เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
[72] ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้า
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
เสด็จจงกรมด้วยพระฤทธิ์ แสดงให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวโลกเห็น
[73] พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จจงกรมอยู่ ในที่จงกรมนั่นเอง
ตรัสธรรมีกถา ไม่เสด็จกลับในระหว่าง
เหมือนเสด็จจงกรมอยู่ในที่จงกรมเพียง 4 ศอก
[74] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก
เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและฌาน
ถึงความบริบูรณ์ด้วยปัญญา
ได้ทูลถามพระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[75] ข้าแต่พระมหาวีระ เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน
อภินิหารของพระองค์เป็นเช่นไร
ข้าแต่พระวีรเจ้า พระองค์ทรงปรารถนา
พระโพธิญาณอันสูงสุดในกาลไร
[76] ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ
สัจจะ และอธิษฐานเป็นเช่นไร เมตตาและอุเบกขาเป็นเช่นไร
[77] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
บารมี 10 เป็นอย่างไร อุปบารมี 10 เต็มได้อย่างไร
และปรมัตถบารมี 10 เต็มได้อย่างไร
เพราะทรงอธิษฐานกรรมอะไร เป็นอธิบดีได้อย่างไร
มีบารมีได้อย่างไร นักปราชญ์เป็นเช่นไร ในโลก
เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาเป็นเช่นไร
พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม
(ธรรมที่กระทำความเป็นพระพุทธเจ้า)
ให้บริบูรณ์สิ้นเชิงได้อย่างไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :566 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
[78] พระศาสดา ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะดังเสียงนกการเวก
อันพระสารีบุตรนั้นทูลถามแล้ว ทรงพยากรณ์ให้เย็นใจ
และทรงทำมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ร่าเริง
[79] พระศาสดาทรงประกาศประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ที่พระพุทธชินเจ้าในอดีตทรงแสดงไว้ ทรงชมเชย
ที่นำสืบ ๆ กันมาของพระพุทธเจ้า
ด้วยพระพุทธญาณที่ไปตามปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกว่า
[80] ท่านทั้งหลายจงทำจิตให้เกิดปีติปราโมทย์
ให้บรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศก ให้ได้สมบัติทั้งปวงแล้วจงฟังเรา
[81] ท่านทั้งหลายจงดำเนินไปตามมรรคที่ย่ำยีความเมา
บรรเทาความเศร้าโศก เปลื้องตนจากสงสาร
เป็นที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง โดยความเคารพเถิด
รตนจังกมนกัณฑ์ จบ

2. สุเมธกถา
ว่าด้วยสุเมธพุทธเจ้า
[1] ใน 4 อสงไขย 100,000 กัป
มีนครหนึ่งชื่อว่าอมระ เป็นนครที่น่าชม น่ารื่นรมย์ใจ
[2] เป็นนครที่สมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำ
ไม่ว่างเว้นจากเสียง 10 ประการ
คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงกลอง เสียงสังข์
เสียงรถ(เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงเพลงขับ เสียงฉิ่ง)
และเสียงเชื้อเชิญด้วยของกินและเครื่องดื่มว่า
เชิญท่านเคี้ยวกิน เชิญท่านดื่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :567 }