เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
มีผิวพรรณเสมอเหมือนดอกอุบลเขียว
ได้บันลือมา(ด้วยวิสัยแห่งฤทธิ์)
เหมือนเมฆในฤดูฝนคำรนอยู่
[59] แม้พระมหากัสสปเถระผู้ผิวพรรณดั่งทองที่หลอมอยู่ในเบ้า
พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า
เป็นผู้เลิศในฝ่ายธุดงค์คุณ
[60] พระอนุรุทธเถระผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่
เลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายฝ่ายทิพยจักษุ
เป็นพระญาติผู้ประเสริฐของพระผู้มีพระภาค ยืนอยู่ในที่ไม่ไกล
[61] พระอุบาลีเถระผู้ฉลาดในอาบัติ อนาบัติ และสเตกิจฉา
พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า
เป็นผู้เลิศในฝ่ายพระวินัย
[62] พระเถระผู้ฤาษีปรากฏชื่อว่าปุณณมันตานีบุตร
ผู้รู้แจ้งในอรรถอันละเอียดสุขุม1
ประเสริฐกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายพระธรรมกถึก เป็นหัวหน้าคณะ
[63] พระมุนีมหาวีระผู้ทรงฉลาดในอุปมา ตัดความสงสัย
ทรงทราบจิตของท่านเหล่านั้นแล้ว
จึงตรัสถึงพระคุณของพระองค์ว่า
[64] สิ่งที่นับไม่ได้ มีที่สุด
ที่บุคคลรู้ไม่ได้ 4 อย่าง
คือ (1) หมู่สัตว์ (2) อากาศ (3) อนันตจักรวาล
(4) พระพุทธญาณที่หาประมาณมิได้
สิ่งเหล่านี้อันใคร ๆ ไม่อาจรู้แจ้งได้

เชิงอรรถ :
1 รู้แจ้งในอรรถอันสุขุม หมายถึงญาณหยั่งรู้สัจจะ 4 และนิพพาน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ของตน (ขุ.เถร.อ.
1/4/56)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :564 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
[65] การที่เราจะแสดงฤทธิ์นี้ จะอัศจรรย์อะไรในโลกเล่า
เพราะความอัศจรรย์ที่ทำให้เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างอื่น
ยังมีอยู่อีกมากมาย
[66] ในกาลใด เราเป็นเทพอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
ในกาลนั้น เรามีชื่อว่าสันดุสิตเทพบุตร
เทวดาในหมื่นจักรวาล ได้มาประชุมกันแล้ว
ประนมมือกล่าวอัญเชิญเราว่า
[67] ข้าแต่พระมหาวีระ
บัดนี้ ถึงเวลาสมควรของพระองค์แล้ว
ขอเชิญพระองค์เสด็จอุบัติในพระครรภ์มารดา
ตรัสรู้อมตบทช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลก
ให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ)เถิด
[68] ขณะเมื่อเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงสู่ครรภ์นั้น
โลกธาตุมีหมื่นจักรวาล แผ่นดินก็ไหว
[69] ขณะเมื่อเรามีความรู้สึกตัว ประสูติจากพระครรภ์มารดานั้น
ทวยเทพก็พากันสาธุการ หมื่นจักรวาลก็ไหว
[70] ในการก้าวลงสู่พระครรภ์มารดา
และในการประสูติ ไม่มีใครเสมอด้วยเรา
เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในการตรัสรู้
และในการประกาศพระธรรมจักร
[71] โอ ! ความอัศจรรย์ได้มีในโลก
เพราะพระพุทธเจ้าทรงพระคุณมาก
โลกธาตุมีหมื่นจักรวาลไหว 6 ครั้ง
มีรัศมีสว่างจ้า น่าอัศจรรย์ขนพองสยองเกล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :565 }