เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
[50] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก
พร้อมด้วยพระขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน
ผู้ฝึกตนในการฝึกอันยอดเยี่ยม1 พากันไปเฝ้าด้วยฤทธิ์
[51] พระสารีบุตรผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อม
เข้าเฝ้าด้วยฤทธิ์ ดังเทวดาลอยมาในฟากฟ้า
[52] ภิกษุเหล่านั้น ผู้มีวัตรงาม มีความเคารพยำเกรง
ไม่ไอ ไม่จาม พากันเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[53] ครั้นเข้าเฝ้าแล้ว เห็นพระสยัมภูวีรเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ลอยเด่นอยู่ในนภากาศเหมือนดวงจันทร์ในฟากฟ้า
[54] เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้รุ่งเรืองดังต้นพฤกษาประทีป
เหมือนสายฟ้าในท้องฟ้า
และเหมือนดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงวัน
[55] ภิกษุทั้ง 500 รูป เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ดังห้วงน้ำใสแจ๋ว
และดังปทุมชาติที่กำลังบาน
[56] ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
ประนมมือหมอบลงนอบน้อม
แทบพระยุคลบาทที่มีจักรลักษณะของพระศาสดา
[57] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก
มีผิวพรรณเสมอเหมือนดอกหงอนไก่
เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและในฌาน
ไหว้พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[58] พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก
ไม่มีใครเสมอได้ด้วยกำลังฤทธิ์

เชิงอรรถ :
1 อันยอดเยี่ยม หมายถึงพระอรหัตตผล (ขุ.พุทธ.อ. 50-51/81)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :563 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
มีผิวพรรณเสมอเหมือนดอกอุบลเขียว
ได้บันลือมา(ด้วยวิสัยแห่งฤทธิ์)
เหมือนเมฆในฤดูฝนคำรนอยู่
[59] แม้พระมหากัสสปเถระผู้ผิวพรรณดั่งทองที่หลอมอยู่ในเบ้า
พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า
เป็นผู้เลิศในฝ่ายธุดงค์คุณ
[60] พระอนุรุทธเถระผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่
เลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายฝ่ายทิพยจักษุ
เป็นพระญาติผู้ประเสริฐของพระผู้มีพระภาค ยืนอยู่ในที่ไม่ไกล
[61] พระอุบาลีเถระผู้ฉลาดในอาบัติ อนาบัติ และสเตกิจฉา
พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า
เป็นผู้เลิศในฝ่ายพระวินัย
[62] พระเถระผู้ฤาษีปรากฏชื่อว่าปุณณมันตานีบุตร
ผู้รู้แจ้งในอรรถอันละเอียดสุขุม1
ประเสริฐกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายพระธรรมกถึก เป็นหัวหน้าคณะ
[63] พระมุนีมหาวีระผู้ทรงฉลาดในอุปมา ตัดความสงสัย
ทรงทราบจิตของท่านเหล่านั้นแล้ว
จึงตรัสถึงพระคุณของพระองค์ว่า
[64] สิ่งที่นับไม่ได้ มีที่สุด
ที่บุคคลรู้ไม่ได้ 4 อย่าง
คือ (1) หมู่สัตว์ (2) อากาศ (3) อนันตจักรวาล
(4) พระพุทธญาณที่หาประมาณมิได้
สิ่งเหล่านี้อันใคร ๆ ไม่อาจรู้แจ้งได้

เชิงอรรถ :
1 รู้แจ้งในอรรถอันสุขุม หมายถึงญาณหยั่งรู้สัจจะ 4 และนิพพาน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ของตน (ขุ.เถร.อ.
1/4/56)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :564 }