เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
พร้อมด้วยหมู่พรหมและเทวดาประมาณ 18 โกฏิ
อันพระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้วิเศษโดยลำดับ ในกาลนั้น
โสดาปัตติผลได้มี(แก่เหล่าเทวดา)ในการประชุมครั้งแรก
ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงราชคฤห์
โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ
พระพุทธองค์ผู้ประเสริฐกว่ามุนี
ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับความนั้น
ได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
มีบริวารเป็นจำนวนมากถึง 11 นหุต
พระองค์ทรงใช้ประทีป ของหอม ธูป
และดอกไม้เป็นต้นบูชาพระผู้มีพระภาค
ในสมาคมนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงกามาทีนวกถา(ว่าด้วยโทษของกาม)
ในเวลาจบพระธรรมเทศนาครั้งนั้น
สัตว์ประมาณ 84,000 มีพระราชาเป็นประมุขได้บรรลุธรรม
พระราชบิดาได้ทรงสดับความนั้น จึงทรงส่งทูตไป 9 นาย
ทูตเหล่านั้นพร้อมด้วยบริวาร 9,000
ทูลขอบรรพชากับพระมุนี ทูตเหล่านั้น
พร้อมด้วยบริวารทั้ง 9,000 ได้บรรลุอรหัตตผล
ครั้งสุดท้าย กาฬุทายีอำมาตย์กับบริวาร 1,000
ถือเพศภิกษุแล้ว นิมนต์พระผู้มีพระภาค
พระศากยมุนีผู้ประเสริฐ ทรงรับนิมนต์แล้ว
เสด็จดำเนินไปตามทางใหญ่
เสด็จพร้อมด้วยภิกษุ 20,000 รูป
พระพุทธองค์เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์
โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ
ได้ทรงทำปาฏิหาริย์ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโรหิณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :555 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
พระผู้มีพระภาคผู้ศากยมุนี ผู้ประเสริฐ
ประทับนั่งท่ามกลางบัลลังก์นั้น
แสดงมหาเวสสันดรชาดก แก่พระราชบิดาท่ามกลางบัลลังก์นั้น
สัตว์ 84,000 ได้บรรลุธรรม
[3] (พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า)
มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาเหล่านี้ไม่รู้ว่า
พระพุทธเจ้าผู้เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชนนี้เป็นเช่นไร
พระพุทธเจ้าผู้ทรงประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ทรงมีกำลังฤทธิ์ และกำลังปัญญาเช่นไร มีพุทธพลัง1เช่นไร
[4] มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาเหล่านี้ไม่รู้ว่า
พระพุทธเจ้าผู้สูงสุดแห่งนรชนนี้เป็นเช่นนี้
พระพุทธเจ้าผู้ทรงประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ทรงมีกำลังฤทธิ์และกำลังปัญญาเช่นนี้ มีพุทธพลังเช่นนี้
[5] เอาละ เราจักแสดงพุทธพลังอันยอดเยี่ยม
จักเนรมิตที่จงกรมซึ่งประดับด้วยรัตนะในนภากาศ”
[6] เทวดาประจำภาคพื้น เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี และเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม
ต่างก็ยินดี ได้พากันส่งเสียงอื้ออึงกึกก้อง
[7] พื้นแผ่นดินพร้อมทั้งเทวโลกสว่างไสว
โลกันตนรกจำนวนมากที่ไม่เชื่อมติดกัน
และความมืดอันหนาทึบถูกขจัดไปในกาลนั้น
เพราะเห็นปาฏิหาริย์อันน่าอัศจรรย์

เชิงอรรถ :
1 พุทธพลัง หมายถึงพุทธานุภาพ ทศพลญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. 3-5/2)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :556 }