เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 10. เสลาเถริยาปทาน
10. เสลาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเสลาเถรี
(พระเสลาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[220] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[221] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลอุบาสก
ในกรุงสาวัตถีซึ่งเป็นเมืองประเสริฐ
เห็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์นั้น
และฟังพระธรรมเทศนาแล้ว
[222] ถึงพระวีระพระองค์นั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึกและสมาทานศีล
ครั้งหนึ่งในสมาคมแห่งมหาชน
พระมหาวีระพระองค์นั้น
[223] ผู้องอาจกว่านรชน ทรงประกาศอภิสัมโพธิญาณของพระองค์
ในธรรมที่ไม่เคยฟังมาในกาลก่อน
และในอริยสัจมีทุกข์เป็นต้นว่า
[224] ‘เรามีจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา
และแสงสว่าง’ แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันสดับ เล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว
จึงสอบถามภิกษุทั้งหลาย
[225] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :550 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 10. เสลาเถริยาปทาน
[226] บัดนี้ ภพนี้เป็นภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดในตระกูลมหาเศรษฐี
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระสัทธรรมอันประกอบด้วยมัจจุ
[227] บวชแล้ว ค้นคว้าอรรถธรรมทั้งปวง
ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว
ได้บรรลุอรหัตตผลโดยกาลไม่นานเลย
[228] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[229] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[230] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ
ของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน
เพราะอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[231] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[232] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :551 }