เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 9. อัมพปาลีเถริยาปทาน
[207] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลพราหมณ์
ในกรุงอรุณที่น่ารื่นรมย์ โกรธแล้ว
สาปแช่งภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วว่า
[208] ‘ท่านเป็นหญิงแพศยา ประพฤติอนาจาร
ประทุษร้ายพระศาสนาของพระชินเจ้า’
ครั้นด่าอย่างนี้แล้ว เพราะกรรมชั่วที่ทำไว้นั้น
[209] หม่อมฉันต้องตกนรกที่ร้ายกาจ
เพียบด้วยมหันตทุกข์ เคลื่อนจากนรกนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ก็มีความเดือดร้อนเป็นประจำ
[210] ครองตำแหน่งหญิงแพศยาอยู่ถึง 10,000 ชาติ
ก็ยังไม่พ้นจากบาปกรรมนั้น
เปรียบเหมือนคนที่กลืนกินยาพิษอย่างร้ายแรง
[211] หม่อมฉันได้ออกบวชเป็นภิกษุณี
มีเพศประเสริฐในศาสนาของพระชินเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะผลแห่งกรรมนั้น
[212] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดเป็นโอปปาติกะ1
ที่ระหว่างกิ่งต้นมะม่วง
จึงมีชื่อว่าอัมพปาลี ตามนิมิตหมายนั้น
[213] หม่อมฉันมีประชาชนหลายโกฏิ
แห่ห้อมล้อมมาบวชในศาสนาของพระชินเจ้า
เป็นลูกหญิงแห่งพระพุทธเจ้า
บรรลุถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว

เชิงอรรถ :
1 โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น
เทวดา และสัตว์นรกเป็นต้น (ที.สี.อ. 1/171/149)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :548 }