เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 6. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
[157] ‘นันทา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้าไหลออกอยู่
ที่พวกคนเขลาพากันปรารถนายิ่งนัก
[158] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียวด้วยอสุภารมณ์เถิด
รูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น
[159] เมื่อเธอพิจารณาเห็นรูปอยู่อย่างนี้
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่นั้น ก็จะเบื่อหน่ายอยู่ด้วยปัญญาของตน’
[160] เมื่อหม่อมฉันไม่ประมาทแล้ว
พิจารณาในกายนี้อยู่โดยแยบคายว่า
กายนี้ทั้งภายในและภายนอก
เราได้เห็นแล้วตามความเป็นจริง
[161] เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเบื่อหน่ายในกาย
และคลายกำหนัดในภายใน ไม่ประมาท
ไม่เกาะเกี่ยว เป็นผู้สงบเย็นแล้ว
[162] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ
[163] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[164] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :541 }