เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 6. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
[149] (6) อายุ (7) วรรณะ (8) สุข (9) ยศ
(10) ความเป็นอธิบดี รุ่งโรจน์อยู่
[150] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในกรุงกบิลพัสดุ์
เป็นธิดาแห่งเจ้าศากยะพระนามว่าเขมกะ
มีนามปรากฏว่านันทา
[151] หมู่ชนกล่าวว่า หม่อมฉันเป็นผู้หนึ่ง
ซึ่งมีความถึงพร้อมด้วยรูปงาม น่าชม
ในคราวที่หม่อมฉันเติบโตเป็นสาว(รู้จัก)
มีรูปและผิวพรรณงดงาม
[152] พวกเจ้าศากยะเกิดการวิวาทกันใหญ่โต
เพราะเรื่องแย่งตัวหม่อมฉันนี้
ครั้งนั้น พระบิดาของหม่อมฉันดำริว่า
‘พวกเจ้าศากยะ จงอย่าพินาศเลย’ จึงให้หม่อมฉันบวช
[153] ครั้นหม่อมฉันบวชแล้ว ได้ฟังว่า
พระตถาคตเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงติเตียนรูป
จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า เพราะหม่อมฉันมีความหลงใหลรูป
[154] หม่อมฉันขลาดต่อการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมไปรับโอวาท
ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงให้หม่อมฉัน
เข้าไปสู่สำนักของพระองค์ด้วยอุบาย
[155] พระองค์ผู้ทรงฉลาดในมรรค
ทรงเนรมิตหญิง 3 คน ด้วยฤทธิ์
คือ (1) หญิงสาวที่สวยเหมือนเทพอัปสร
(2) หญิงชรา (3) หญิงที่ตายแล้ว
[156] หม่อมฉันเห็นหญิงทั้ง 3 แล้วเกิดความสลดใจ
ไม่ยินดีในซากศพของหญิงที่ตายแล้ว
มีความเบื่อหน่ายในภพ ยืนเฉยอยู่
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำ ตรัสกับหม่อมฉันว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :540 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 6. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
[157] ‘นันทา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้าไหลออกอยู่
ที่พวกคนเขลาพากันปรารถนายิ่งนัก
[158] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียวด้วยอสุภารมณ์เถิด
รูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น
[159] เมื่อเธอพิจารณาเห็นรูปอยู่อย่างนี้
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่นั้น ก็จะเบื่อหน่ายอยู่ด้วยปัญญาของตน’
[160] เมื่อหม่อมฉันไม่ประมาทแล้ว
พิจารณาในกายนี้อยู่โดยแยบคายว่า
กายนี้ทั้งภายในและภายนอก
เราได้เห็นแล้วตามความเป็นจริง
[161] เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเบื่อหน่ายในกาย
และคลายกำหนัดในภายใน ไม่ประมาท
ไม่เกาะเกี่ยว เป็นผู้สงบเย็นแล้ว
[162] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ
[163] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[164] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :541 }