เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 5. สุกกาเถริยาปทาน
[130] หม่อมฉันได้เห็นพุทธานุภาพ
และได้ฟังธรรมซึ่งเป็นที่สั่งสมคุณแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
บูชาพระองค์ผู้มีพลธรรมมาก1
[131] ต่อมา หม่อมฉันได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ในสำนักของพระธรรมทินนาเถรี
[132] หม่อมฉันเผากิเลสทั้งหลายได้ในขณะที่กำลังปลงผม
บวชแล้วไม่นาน ก็ศึกษาศาสนธรรมได้อย่างทั่วถึง
[133] ต่อจากนั้น ได้แสดงธรรมในสมาคมแห่งมหาชน
เมื่อหม่อมฉันกำลังแสดงธรรมอยู่
การบรรลุธรรมก็ได้มี
[134] มียักษ์ตนหนึ่ง ได้ทราบการตรัสรู้ธรรมนั้น
ของสัตว์หลายพันแล้ว เกิดอัศจรรย์ใจ
เลื่อมใสต่อหม่อมฉันได้ไปยังกรุงราชคฤห์
[135] มนุษย์ทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ที่ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้
พระเถรีชื่อว่าสุกกา ผู้แสดงอมตบทอยู่
หม่อมฉันจะให้ดื่มอมตบทเหมือนดื่มน้ำผึ้งได้อย่างไร
[136] ก็แลพวกเขาผู้มีปัญญา คงจะดื่มอมตบทนั้น
อันมีสภาพไม่ถอยกลับ ให้เกิดความชื่นใจมีโอชาได้
เหมือนคนเดินทางไกลแสวงหาน้ำดื่ม
[137] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ

เชิงอรรถ :
1 พลธรรม หมายถึงธรรมอันเป็นกำลัง มี 5 อย่าง (1) สัทธา(ความเชื่อ) (2) วิริยะ(ความเพียร)
(3) สติ(ความระลึกได้) (4) สมาธิ(ความตั้งจิตมั่น) (5) ปัญญา(ความรู้แจ้ง) (ที.ปา. (แปล) 11/331/335)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :537 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 5. สุกกาเถริยาปทาน
[138] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[139] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[140] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[141] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[142] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสุกกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
สุกกาเถริยาปทานที่ 5 จบ
ภาณวารที่ 5 จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :538 }