เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[32] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
มีกรุงชื่อว่าหงสวดี เป็นที่อยู่อาศัยแห่งตระกูล
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[33] มีแม่น้ำคงคาไหลผ่านที่หน้าประตูกรุงหงสวดีอยู่ตลอดเวลา
ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนไปไม่ได้เพราะแม่น้ำ
[34] น้ำเต็มตลิ่งอยู่ 1 วันบ้าง 2 วันบ้าง 3 วันบ้าง
1 สัปดาห์บ้าง 1 เดือนบ้าง 4 เดือนบ้าง
ภิกษุเหล่านั้นจึงไปไม่ได้
[35] ครั้งนั้น ชาวแว่นแคว้นผู้หนึ่งมีนามว่าชัชชิยะ
มีทรัพย์เป็นสาระเพื่อประโยชน์แก่ตน เห็นภิกษุทั้งหลาย
จึงได้สั่งให้นายช่างจัดสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นที่ฝั่งด้านหน้าเมือง
[36] ครั้งนั้น เขาได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำคงคา
ด้วยทรัพย์หลายแสน
และได้ให้สร้างวิหารถวายสงฆ์ที่ฝั่งด้านตรงกันข้าม
[37] ทั้งสตรี บุรุษ ตระกูลสูง และตระกูลต่ำเหล่านั้น
ได้ร่วมกันสร้างสะพานและวิหารเท่า ๆ กันกับนายชัชชิยะนั้น
[38] หม่อมฉันทั้งหลายและหมู่มนุษย์เหล่าอื่น
ในนครและในชนบทล้วนมีจิตเลื่อมใส
เป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[39] ทั้งสตรี บุรุษ เด็กชาย และเด็กหญิงจำนวนมากด้วยกัน
ต่างก็ช่วยกันเกลี่ยทรายลงที่สะพานและที่วิหาร
[40] กวาดถนน แล้วตั้งต้นกล้วย
หม้อน้ำซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยมและปักธงขึ้น
จัดธูป จุรณและดอกไม้สักการะพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :524 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[41] หม่อมฉันทั้งหลายครั้นสร้างสะพานและวิหารเสร็จแล้ว
ได้ทูลนิมนต์พระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ถวายมหาทาน แล้วปรารถนาสัมโพธิญาณ
[42] ข้าแต่พระมหามุนี พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นที่เคารพของสรรพสัตว์
ทรงทำอนุโมทนาแล้ว ตรัสพยากรณ์ว่า
[43] ‘เมื่อ 100,000 กัปล่วงไปแล้ว จักมีภัทรกัป
บุรุษนี้ได้ความสุขในภพน้อยภพใหญ่แล้ว จักบรรลุพระโพธิญาณ
[44] บุรุษและสตรีที่ช่วยกันทำหัตถกรรมทั้งหมด
จักมีพร้อมหน้ากันในอนาคตกาล’
[45] ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ชนเหล่านั้นเกิดในเทวโลกแล้ว จักเป็นคนรับใช้พระองค์
[46] เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เสวยสุขเป็นทิพย์
และเป็นของมนุษย์นับไม่ถ้วน ตลอดกาลนาน
[47] ในกัปที่ 100,000 (นับจากกัปนี้ไป)
กรรมสมบัติหม่อมฉันทั้งหลายก็ทำไว้ดีแล้ว
ในหมู่มนุษย์สุขุมาลชาติ และในเทวโลกที่ประเสริฐ
[48] หม่อมฉันทั้งหลายย่อมได้รูปสมบัติ
โภคสมบัติ ยศ ความสรรเสริญ
และความสุขอันเป็นที่รัก ทั้งหมดเป็นกรรมสมบัติ
ที่หม่อมฉันทั้งหลายกระทำไว้ดีแล้ว อย่างต่อเนื่อง
[49] เมื่อถึงภพสุดท้าย
หม่อมฉันทั้งหลายเกิดในตระกูลพราหมณ์
ในนิเวศน์ของเจ้าศากยบุตร เป็นผู้มีมือและเท้าละเอียดอ่อน
[50] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
ไม่เห็นแผ่นดินที่เขายังไม่ตกแต่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :525 }