เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
ได้ทราบว่า ภิกษุณีที่เคยเป็นขัตติยกัญญา 18,000 มีพระยสวดีเถรีเป็น
ประธาน ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถริยาปทานที่ 1 จบ

2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรีพราหมณกัญญา 84,000 รูป
(พระเถรีพราหมณกัญญา 84,000 รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของ
ตน จึงกล่าว่า)
[13] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉัน 84,000 นาง
ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์
มีมือและเท้าละเอียดอ่อน เกิดในนคร(ศาสนา)ของพระองค์
[14] เกิดในตระกูลแพศย์และตระกูลศูทร
ข้าแต่พระมหามุนี เหล่าเทพ นาค กินนร
และกัญญาจำนวนมากอยู่ในทวีปทั้ง 4
เกิดในนคร(ศาสนา)ของพระองค์
[15] หญิงบางพวกบวชแล้ว ได้เห็นธรรมทั้งปวงก็มีมาก
เหล่าเทพ กินนร นาค ก็จักตรัสรู้ในอนาคตกาล
[16] ชนทั้งหลายได้เสวยเกียรติยศทั้งปวง ได้สมบัติทั้งปวง
ได้ความเลื่อมใสในพระองค์ ก็จักตรัสรู้ในอนาคต
[17] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
ส่วนหม่อมฉันทั้งหลายเกิดในตระกูลพราหมณ์
เป็นธิดาของพราหมณ์ เป็นผู้มีลักษณะดี
ขอกราบพระยุคลบาท
[18] ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ขจัดได้แล้ว
ตัณหาที่เป็นรากเหง้า(แห่งอกุศล) หม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :521 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
อนุสัย1หม่อมฉันทั้งหลายก็ตัดได้แล้ว
ปุญญาภิสังขาร หม่อมฉันทั้งหลายก็ทำลายได้แล้ว
[19] หม่อมฉันทั้งปวงมีสมาธิเป็นอารมณ์
ชำนาญในสมาบัติเช่นกัน จักอยู่ด้วยฌาน
และความยินดีในธรรมทุกเมื่อ
[20] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำตัณหาที่นำไปสู่ภพ
อวิชชา และแม้สังขารให้สิ้นไปแล้ว
ตามไปรู้แจ้งซึ่งบทที่รู้ได้แสนยาก
[21] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ‘เธอทั้งหลายมีอุปการะแก่เรา
ผู้เดินทางไกลมาตลอดกาลนาน
จงตัดความสงสัยของบริษัท 4 แล้วทั้งหมดจงนิพพานเถิด’
[22] พระเถรีเหล่านั้น กราบพระยุคลบาทของพระมุนีแล้ว
แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ บางพวกแสดงแสงสว่าง
บางพวกแสดงความมืด บางพวกแสดงอย่างอื่น
[23] บางพวกแสดงดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
และทะเลพร้อมด้วยปลา บางพวกแสดงภูเขาสิเนรุ
ภูเขาสัตตบริภัณฑ์และต้นปาริฉัตตกะ
[24] บางพวกแสดงภพดาวดึงส์
ยามาเทวโลกด้วยฤทธิ์
บางพวกเนรมิตตนเป็นเทวดาชั้นดุสิต
เป็นเทวดาชั้นนิมมานรดี
เป็นเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 อนุสัย ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ สภาพที่ปรุงแต่งคือบุญ (ดูเทียบ ที.ปา. (แปล)
11/305/268)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :522 }