เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 1. อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถรีนมปทาน
4. ขัตติยกัญญาวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถรีผู้เคยเป็นขัตติยกัญญาเป็นต้น
1. อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถรีนมปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรี
ผู้เคยเป็นพระขัตติยกัญญา 18,000 รูป
(พระเถรีผู้เคยเป็นขัตติยกัญญา 18,000 รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีต
ชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลายมีภพทั้งปวงสิ้นแล้ว
ปลดเปลื้องที่ต่อแห่งภพแล้ว
ไม่มีอาสวะทั้งปวงเลยขอกราบทูลว่า
[2] ‘ข้าแต่พระมหามุนี บริกรรมที่เป็นกุศล
ความดีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนปรารถนาไว้
และวัตถุที่เป็นเครื่องบริโภคหม่อมฉันทั้งหลายถวายแล้ว
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[3] ข้าแต่พระมหามุนี ความดีที่ปรารถนาแล้ว
และวัตถุที่เป็นเครื่องบริโภคหม่อมฉันทั้งหลายถวายแล้วแด่พระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[4] ข้าแต่พระมหามุนี กรรมที่สูงและต่ำหม่อมฉันทั้งหลายก็กระทำแล้ว
ความดีหม่อมฉันทั้งหลายก็ปรารถนาแล้ว
การบริกรรมในตระกูลสูงหม่อมฉันทั้งหลาย
ทำไว้แล้วเพื่อภิกษุทั้งหลาย’
[5] หญิงเหล่านั้นถูกกุศลมูลนั้นนั่นแหละตักเตือนแล้ว
เป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยกุศลกรรม
ล่วงสมบัติของมนุษย์แล้ว มาเกิดในตระกูลกษัตริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :519 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 1. อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถรีนมปทาน
[6] เมื่อกรรมที่หม่อมฉันทั้งหลายได้ร่วมกันสั่งสมสร้างไว้ในชาติเดียวกัน
ในภพสุดท้าย หม่อมฉันทั้งหลายสมภพในตระกูลกษัตริย์เกิดร่วมกัน
[7] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งหลายเป็นผู้มีรูปสมบัติ
มีโภคสมบัติ มีลาภสักการะ
อันมหาชนในภายในบุรีบูชาแล้ว
เหมือนนันทนวันอุทยานแห่งหมู่เทพอันมหาชนบูชาแล้ว
[8] หม่อมฉันทั้งหลายพากันเบื่อหน่ายออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตสิ้นไป 2-3 วัน
ก็บรรลุถึงความดับทุกข์ทั้งหมดด้วยกัน
[9] คนเป็นอันมากนำจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากมาย
มาสักการบูชาหม่อมฉันทั้งหลายตลอดเวลา
[10] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[11] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[12] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :520 }