เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 5. นันทาเถริยาปทาน
[200] แม่คนงาม เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาแห่งปัญหา
แม่จงนอนหนุนตักเรา
ทับซ้อนร่างกายเราหลับสักครู่หนึ่งเถิด’
[201] จากนั้นแม่คนแสนสวยก็นอนพาดศีรษะบนตักหม่อมฉัน
ของแข็งขนาดใหญ่ตกไปที่หน้าผากของนาง
[202] พร้อมกับของแข็งที่ตกมากระทบ รอยโปนก็ปรากฏขึ้น
และทั้งหนองทั้งเลือดก็ไหลออกจากซากศพที่แตก
[203] แม้ใบหน้าที่แตกแล้วนั้น ก็มีกลิ่นคล้ายซากศพเน่าโชยออกมา
ทั่วทั้งสรีระพองขึ้นเขียวคล้ำ
[204] แม่คนสวยมีสรรพางค์กายสั่น หายใจหอบถี่ ๆ
เสวยทุกข์ของตนอยู่ รำพันอย่างน่าสงสาร
[205] หม่อมฉันเป็นทุกข์เพราะทุกข์นั้น ต้องเวทนาจมอยู่ในทุกข์ใหญ่
ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง แม่นางเป็นเพื่อนของหม่อมฉัน
[206] ใบหน้าที่งามของแม่หายไปไหน
จมูกที่โด่งงามของแม่หายไปไหน
ริมฝีปากที่สวยเหมือนสีลูกมะพลับสุกของแม่หายไปไหน
วงหน้าที่งดงามของแม่หายไปไหน
[207] วรรณะที่เปล่งปลั่งดังดวงจันทร์หายไปไหน
และลำคอที่คล้ายปล้องทองคำของแม่หายไปไหน
ใบหูของแม่ดังพวงดอกไม้ก็หมดสีสันวรรณะไปเสียแล้ว
[208] ถันที่กลมกลึงคล้ายดอกบัวตูมทั้งคู่ของแม่แตกแล้ว
มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปคล้ายซากศพเน่า
[209] นางมีเอวคอดกลม มีตะโพกผึ่งผาย
นำสิ่งชั่วร้ายมาให้เหมือนเขียง
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาด โอ ! รูปไม่เที่ยง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :482 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 5. นันทาเถริยาปทาน
[210] อวัยวะที่เกิดจากสรีระทั้งหมดมีกลิ่นเหม็นเน่า
น่ากลัว น่าเกลียดเหมือนซากศพในป่าช้า
ที่พวกคนเขลาพากันยินดี
[211] ครั้งนั้น พระภาดาของหม่อมฉันผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันผู้มีจิตสังเวช
จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
[212] ‘นันทา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
เปื่อยเน่าดังซากศพ จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นด้วยดี
มีอารมณ์เดียว ด้วยอารมณ์อันไม่งาม
[213] รูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก
[214] เธอไม่เกียจคร้าน
พิจารณาเห็นรูปเป็นอย่างนั้น ทั้งกลางคืนกลางวัน
แต่นั้นจะเบื่อหน่ายยิ่งนักเห็นด้วยปัญญาของตน’
[215] จากนั้น หม่อมฉันมีจิตสลด เพราะฟังคาถาสุภาษิต
ยืนอยู่ ณ ที่นั้น ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[216] หม่อมฉันเข้าฌานตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งอยู่ ณ ที่ใด ๆ
พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะ
[217] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :483 }