เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 5. นันทาเถริยาปทาน
[176] ครั้งนั้น พระสุคตผู้ฝึกนรชนที่ยังไม่ได้ฝึก
เป็นที่พึ่งของโลกทั้ง 3 ทรงเป็นใหญ่
ทรงพยุงนรชนไว้เป็นอย่างดีตรัสพยากรณ์ว่า
‘เธอจักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนาไว้ดีแล้วนั้น
[177] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[178] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่านันทา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[179] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้มีความยินดี
มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต
[180] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[181] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[182] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ
ในภพนั้น ๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[183] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินหลายชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :479 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 5. นันทาเถริยาปทาน
[184] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก
[185] เมื่อถึงภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ
ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นผู้มีรูปสมบัติอันใคร ๆ ไม่นินทา
[186] ราชสกุลนั้นเห็นหม่อมฉันมีรูปงามดังดวงอาทิตย์
จึงพากันชื่นชม เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีนามว่านันทา
เป็นผู้มีรูปลักษณ์ที่งดงามประเสริฐ
[187] ในกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชธานีที่รื่นรมย์นั้น
นอกจากพระนางยโสธราแล้ว
ปรากฏว่าหม่อมฉันมีความงามกว่ายุวนารีทุกคน
[188] พระเชฏฐภาดาก็เป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศในโลก 3
พระภาดาองค์สุดท้ายก็เป็นพระอรหันต์
หม่อมฉันเป็นสตรีเพียงผู้เดียวที่เป็นคฤหัสถ์
พระมารดาทรงตักเตือนว่า
[189] ‘ลูกรัก เจ้าเกิดในศากยสกุล
เป็นน้องของพระพุทธเจ้า เมื่อเว้นจากนันทกุมารแล้ว
จักได้ประโยชน์อะไรในวังเล่า’
[190] ความเป็นหนุ่มสาว ก็มีความแก่เป็นที่สุด
รูปบัณฑิตรู้กันว่าเป็นของไม่สะอาด
แม้ไม่มีโรค ก็มีโรคเป็นที่สุด
ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
[191] รูปที่สวยงามของเธอแม้นี้ น่าใคร่ดังดวงจันทร์
จูงใจให้นิยม อลังการด้วยเครื่องประดับทั้งหลาย
คล้ายกำหนดรู้ได้ด้วยสิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :480 }