เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 3. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[109] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[110] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[111] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ 6 ของพระองค์
มีนามปรากฏว่าสุธรรมา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว
พอใจการบรรพชา
[112] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ 20,000 ปี
ภาณวารที่ 3 จบ

[113] พระราชกัญญาทั้ง 7 องค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[114] คือ (1) พระนางสมณี (2) พระนางสมณคุตตา
(3) พระนางภิกษุณี (4) พระนางภิกขุทาสิกา
(5) พระนางธรรมา (6) พระนางสุธรรมา
(7) พระนางสังฆทาสิกา
[115] (พระราชธิดาทั้ง 7 นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ พระเขมาเถรี 1 พระอุบลวรรณาเถรี 1
พระปฏาจาราเถรี 1 พระกุณฑลเกสีเถรี 1
หม่อมฉัน 1 พระกีสาโคตมีเถรี 1
และคนที่ 7 เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :470 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 3. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
[116] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[117] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มีความเจริญมั่งคั่งให้สำเร็จความประสงค์ทั้งปวง
ในกรุงราชคฤห์ที่ประเสริฐสุด
[118] ในคราวที่หม่อมฉันดำรงอยู่ในปฐมวัยรุ่นสาว
ประกอบด้วยรูปสมบัติ ได้ไปสู่ตระกูลอื่น (แต่งงาน)
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขอยู่
[119] สามีของหม่อมฉันเป็นผู้มีความรู้ดี
เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุอนาคามิผล
[120] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ขออนุญาตสามีนั้นแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[121] ครั้งนั้น สามีผู้เป็นอุบาสกนั้นได้เข้าไปหาหม่อมฉันแล้ว
ได้ถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งมาก
หม่อมฉันแก้ปัญหาทั้งหมดนั้นได้
[122] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะด้วยพระดำรัสว่า
‘เรามิได้เห็นภิกษุณีรูปอื่น ผู้เป็นพระธรรมกถึก
เหมือนภิกษุณีธัมมทินนานี้เลย
[123] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำ
ภิกษุณีธรรมทินนาว่าเป็นนักปราชญ์’
หม่อมฉันอันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำทรงอนุเคราะห์แล้ว
ชื่อว่าเป็นบัณฑิตอย่างนี้
[124] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันได้ทำแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :471 }