เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 8. สุจินติตเถราปทาน
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[105] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[106] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกธัมมสวนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
เอกธัมมัสสวนิยเถราปทานที่ 7 จบ

8. สุจินติตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุจินติตเถระ
(พระสุจินติตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[107] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นชาวนาอยู่ในกรุงหงสวดี
เลี้ยงชีพด้วยกสิกรรม เลี้ยงดูบุตรภรรยาด้วยกสิกรรมนั้น
[108] ครั้งนั้น นาของข้าพเจ้าสมบูรณ์ดี
ข้าวของข้าพเจ้าออกรวงแล้ว
เมื่อถึงเวลาข้าวสุก บัดนั้น ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้ว่า
[109] การที่เรารู้คุณโทษอยู่ ไม่ได้ถวายสงฆ์
บริโภคส่วนเลิศด้วยตนเอง เป็นการไม่เหมาะ ไม่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :47 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 8. สุจินติตเถราปทาน
[110] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน1 ในโลก
ผู้ทรงพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ2
และพระสงฆ์ผู้ถือกำเนิด จากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม
[111] เราจักถวายข้าวใหม่เป็นทาน แด่พระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์เป็นปฐมฤกษ์ ครั้นคิดเช่นนี้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีใจร่าเริง ปลาบปลื้มด้วยปีติ
[112] จึงนำข้าวเปลือกมาจากนา เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้ทรงองอาจกว่านรชน
กราบพระยุคลบาทพระศาสดาแล้ว กราบทูลคำนี้ว่า
[113] “ข้าแต่พระมุนี ข้าวใหม่สมบูรณ์แล้ว
ทั้งพระองค์ก็ยังประทับอยู่ ณ ที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณารับเถิด”
[114] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว ได้ตรัสคำนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน หมายถึงไม่มีใครเสมอเหมือนด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม
(ขุ.อป.อ. 1/56/133)
2 ดูเชิงอรรถหน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :48 }