เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 1. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
3. กุณฑลเกสีวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถรีชื่อกุณฑลเกสีเป็นต้น
1. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุณฑลเกสีเถรี
(พระกุณฑลเกสีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
[2] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก
[3] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้วได้ฟังธรรมที่สูงสุด
แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส
ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ
[4] ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงเป็นผู้นำ พระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทรงตั้งภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีปัญญาดีไว้ในเอตทัคคะว่า
‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ขิปปาภิญญา(รู้ฉับพลัน)’
[5] หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้เบิกบาน
ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[6] พระมหาวีรพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาว่า
‘นางผู้เจริญ ตำแหน่งใดที่เธอปรารถนาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :456 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 1. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
ตำแหน่งนั้นทั้งปวงจักสำเร็จแก่เธอ
เธอจงเป็นผู้มีสุขนิพพานเถิด
[7] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[8] สตรีผู้นี้จักมีนามว่ากุณฑลเกสี ผู้เจริญ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[9] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[10] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรคชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[11] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ
ในภพนั้น ๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[12] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
[13] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและในมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก
[14] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :457 }