เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 10. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[492] ภายหลังสามีของหม่อมฉันตามมาทันที่หนทาง
ขณะนั้น ลมกรรมชวาต1แสนจะทารุณเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน
[493] ครั้งนั้น มหาเมฆก็เกิดขึ้นในเวลาที่หม่อมฉันจะคลอด
สามีไปหาเครื่องกำบังแต่ถูกงูกัดตาย
[494] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีทุกข์เพราะการคลอด หมดที่พึ่ง
เป็นคนกำพร้า เดินไปเห็นแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง
ซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยม เป็นที่อยู่อาศัยของนกเหยี่ยว
[495] หม่อมฉันอุ้มลูกคนเล็ก ข้ามไปที่ฝั่งโน้นคนเดียว
ให้ลูกคนเล็กดื่มนมจนอิ่มแล้ว
ประสงค์ที่จะนำบุตรอีกคนหนึ่ง (คนโต) ให้ข้ามมา
[496] จึงย้อนกลับมา เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลูกคนเล็กที่ร้องไห้จ้าไป
บุตรคนโตกระแสน้ำก็พัดไป
หม่อมฉันนั้นเปี่ยมไปด้วยความเศร้าโศกเหลือประมาณ
[497] จึงเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี ได้ฟังข่าวว่า
ญาติของตน (มารดา บิดาและพี่ชาย) ตายแล้ว
เวลานั้น หม่อมฉันอัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก
เปี่ยมด้วยความโสกาดูรอย่างใหญ่หลวง ได้กล่าวว่า
[498] ‘ลูก 2 คนก็ตายเสียแล้ว สามีของเราก็ตายในป่า
มารดาบิดาและพี่ชายของเรา
ก็ถูกเผาอยู่ที่เชิงตะกอนเดียวกัน’
[499] ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งซูบผอม ทั้งเหลืองซีด
ไม่มีที่พึ่ง ตรอมใจอยู่ทุกวัน เมื่อหม่อมฉันกระเซอะกระเซิงไป
ได้พบพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน

เชิงอรรถ :
1 ลมกรรมชวาต หมายถึงลมเกิดแต่กรรมคือลมเกิดในครรภ์เวลาคลอดบุตร ได้แก่ ลมเบ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :453 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 10. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[500] ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘เธออย่าเศร้าโศกถึงบุตรเลย
จงผ่อนคลายบ้างเถิด จงแสวงหาตนเองเถิด
จะเดือดร้อนอย่างไร้ประโยชน์ไปทำไม
[501] บุตร ธิดา ญาติและพวกพ้อง
มีไว้เพื่อต้านทานคนผู้ถึงที่ตายไม่ได้เลย
บรรดาหมู่ญาติ ผู้ที่จะต้านทานได้ก็ไม่มี’
[502] หม่อมฉันได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีนั้นแล้ว
ได้บรรลุโสดาปัตติผล
บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[503] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
[504] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน
[505] ครั้งนั้น หม่อมฉันเรียนวินัยทั้งปวง
ในสำนักของพระผู้ทรงรู้เห็นธรรมทั้งปวง
และกล่าวอธิบายพระวินัยทั้งปวงได้อย่างพิสดารตามเป็นจริง
[506] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า
‘ปฏาจาราภิกษุณีเพียงผู้เดียวเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงวินัย’
[507] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ทำสำเร็จแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :454 }