เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 9. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[447] หม่อมฉันมีความเลื่อมใส ได้ถวายข้าวยาคูด้วยมือของตน
แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
หม่อมฉันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ไปเกิดในสวนนันทวันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[448] ข้าแต่พระมหาวีระ
หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้เสวยสุขและทุกข์และได้สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[449] หม่อมฉันมีทุกข์ก็มาก มีสมบัติก็หลายชนิด
ดังที่กราบทูลมานี้ เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในกรุงสาวัตถี
[450] ในตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์มาก
ประกอบด้วยสุขสมบัติ มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ
ให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง
[451] เป็นผู้ที่ประชุมชนสักการบูชา
นับถือและยำเกรง ประกอบด้วยสิริรูป
อันชนในตระกูลทั้งหลายสักการะอย่างยิ่ง
[452] หม่อมฉันเป็นหญิงที่น่าปรารถนายิ่งนัก
ด้วยสิริคือรูปสมบัติและโภคสมบัติ
บุตรเศรษฐีทั้งหลายและบริวารของตนจำนวนมากต่างปรารถนา
[453] หม่อมฉันละเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุสัจจะ 4
[454] หม่อมฉันเนรมิตรถเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ด้วยฤทธิ์
ขอกราบพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลกผู้มีพระสิริ
[455] (พญามารมากล่าวกับหม่อมฉันว่า)
‘ท่านเข้ามายังต้นไม้ชั้นเลิศที่มีดอกแย้มบานดีแล้ว
ยืนอยู่เพียงผู้เดียวที่โคนต้นสาละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :447 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 9. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
ไม่มีใครเป็นเพื่อน ท่านผู้โง่เขลา
ท่านไม่กลัวพวกนักเลงดอกหรือ’
[456] หม่อมฉันกล่าวว่า ‘ถึงพวกนักเลงตั้ง 100,000 คนมาในที่นี้
พึงเป็นเหมือนกับท่านนี้ ก็ทำขนของเราให้เอนให้ไหวไม่ได้
พญามาร ท่านเพียงผู้เดียวจักทำอะไรเราได้
[457] เรานี้จักหายตัวไปก็ได้ หรือว่าเข้าไปในท้องของท่านก็ได้
ท่านจักมองไม่เห็นเราผู้ยืนอยู่ที่ระหว่างคิ้วของท่าน
[458] เรามีความชำนาญในเรื่องจิต อิทธิบาทเราก็เจริญดีแล้ว
พ้นจากสรรพกิเลสเครื่องผูกทั้งปวง
พญามาร เรามิได้เกรงกลัวท่าน
[459] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
แม้ขันธ์ทั้งหลาย1ก็คล้ายกองไฟ
ท่านกล่าวถึงความยินดีในกาม
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกาม
[460] ความเพลิดเพลินในอารมณ์ทั้งปวงเรากำจัดได้หมดแล้ว
กองแห่งความมืด2เราก็ทำลายได้แล้ว
มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านถูกเรากำจัดแล้ว’
[461] พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะในบริษัททั้งหลายว่า
‘อุบลวรรณาภิกษุณีเป็นผู้ประเสริฐสุด
แห่งภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์’

เชิงอรรถ :
1 ขันธ์ทั้งหลาย หมายถึงขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
(ที.ปา. (แปล) 11/315/299-300)
2 กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.เถรี.อ. 3/12,43,62)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :448 }