เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 9. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[400] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
[401] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[402] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉัน
บริสุทธิ์ไพบูลย์ตามสภาวะแห่งพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[403] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉัน
อันหม่อมฉันผู้เสร็จสงครามแสดงแล้ว(กระทำแล้ว)
แด่พระชินเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลายในปางก่อน
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[404] ข้าแต่พระมหามุนี
ขอพระองค์ทรงระลึกถึงกุศลกรรมของหม่อมฉัน
ที่หม่อมฉันกระทำแล้วในปางก่อน
ข้าแต่พระมหาวีระ
หม่อมฉันสั่งสมบุญไว้แล้วเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[405] ข้าแต่พระมหาวีระ พระองค์ทรงเว้นอนาจาร
ในสถานที่ไม่ควร อบรมพระญาณให้แก่กล้าอยู่
หม่อมฉันได้สละชีวิตที่สูงสุดเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[406] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้ถวายชีวิต
ของหม่อมฉันหลายหมื่นโกฏิกัป
แม้ตัวหม่อมฉัน หม่อมฉันก็ได้สละแล้ว
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :441 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 9. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[407] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดมีความพิศวงยิ่งนัก
จึงได้พากันประนมมือเหนือศีรษะ พูดว่า
‘ข้าแต่พระแม่เจ้า อย่างไร พระแม่เจ้าจึงมีความบากบั่น มีฤทธิ์
หาสิ่งใดเปรียบปานมิได้’
[408] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนางนาคกัญญามีนามว่าวิมลา
หมู่นาคยกย่องว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าพวกนางนาคกัญญา
[409] พญานาคชื่อมโหรคะ
เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงมีเดชานุภาพมาก พร้อมทั้งพระสาวก
[410] ตกแต่งมณฑปแก้ว บัลลังก์แก้ว
โปรยทรายแก้ว เครื่องอุปโภคแก้ว
[411] และตกแต่งหนทางประดับด้วยธงแก้ว
พญานาคนั้นบรรเลงดนตรี
ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[412] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงแผ่ขยายบริษัท 4 ประทับนั่งบนอาสนะ
อันประเสริฐในภพของพญานาคชื่อมโหรคะ
[413] พญานาคได้ถวายข้าวน้ำ
ขาทนียะและโภชนียาหารอย่างดี ๆ มีราคามาก
แด่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระยศใหญ่
[414] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นเสวยเสร็จแล้วทรงล้างบาตร
ได้ทรงทำการอนุโมทนาอันสมควร
โดยอุบายอันแยบคายว่า ‘นางนาคกัญญาจงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :442 }