เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[360] หม่อมฉันได้ฟังพระสูตรอันประเสริฐนั้นแล้ว
จึงระลึกถึงสัญญาในกาลก่อนได้
ตั้งมั่นอยู่ในสัญญานั้นแล้ว ชำระธรรมจักษุ1ให้หมดจด
[361] ขณะนั้น หม่อมฉันหมอบลงแทบพระยุคลบาท
ของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เพื่อประสงค์จะแสดงโทษ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[362] “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระมหากรุณา
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เสด็จข้ามวัฏฏสงสารได้แล้ว
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานอมตธรรม
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
[363] หม่อมฉันจมอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ
หลงใหลเพราะกามราคะ
พระองค์ทรงแนะนำด้วยอุบายที่ชอบ
เป็นผู้ยินดีในธรรมที่ทรงแนะนำ
[364] สัตว์ทั้งหลายพลัดพรากจากประโยชน์
เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เช่นพระองค์
จึงประสบมหันตทุกข์อยู่ในสงสารสาคร
[365] ในกาลใดหม่อมฉันยังมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้ไม่มีข้าศึกคือกิเลส

เชิงอรรถ :
1 ธรรมจักษุ หมายถึงปัญญาในมรรค 3 คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค (ที.สี.อ.
1/213/165,214,250)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :435 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
ทรงถึงที่สุดแห่งมรณธรรม
ทรงมีธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างดี
หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น
[366] หม่อมฉันมัวแต่ยินดีในรูป
ระแวงว่าพระองค์จะไม่เป็นประโยชน์จึงมิได้เข้าเฝ้า
พระองค์ผู้ทรงมีความเกื้อกูลมาก
ทรงประทานพระธรรมที่ประเสริฐ
หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น”
[367] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
มีพระสุรเสียงไพเราะและก้องกังวาน
เมื่อจะทรงใช้น้ำอมฤตรดหม่อมฉันจึงตรัสว่า “ลุกขึ้นเถิดเขมา”
[368] ครั้งนั้น หม่อมฉันประณตน้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า
ทำประทักษิณพระองค์แล้ว กลับไปเฝ้าพระราชา
ผู้เป็นใหญ่กว่านรชนแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[369] “ข้าแต่พระองค์ผู้ย่ำยีข้าศึก
อุบายที่พระองค์ทรงดำริแล้วโดยชอบนี้ น่าอัศจรรย์
หม่อมฉันผู้ปรารถนาจะเที่ยวชมพระเวฬุวันมหาวิหาร
ได้เฝ้าพระมุนีผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังป่าแล้ว
[370] ข้าแต่พระราชา ถ้าพระองค์ทรงพอพระทัย
หม่อมฉันผู้เบื่อหน่ายในรูปตามที่พระมุนีทรงตรัสสอนแล้ว
จักบวชในศาสนาของพระมุนีผู้คงที่พระองค์นั้น”
ภาณวารที่ 2 จบ

[371] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร พระองค์นั้น
ทรงประคองอัญชลีตรัสว่า “พระน้องนาง
พี่อนุญาตแก่เธอ ขอการบรรพชาจงสำเร็จแก่เธอเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :436 }