เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[344] ประทับสำราญอยู่พระองค์เดียว มีสตรีสาวสวยพัดวีอยู่
ครั้นแล้วจึงมีความคิดผิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค
ผู้องอาจกว่านรชนพระองค์นี้มิได้เศร้าหมองเลย
[345] หญิงสาวนั้นก็มีรัศมีเปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ
มีหน้าตางดงามดังปทุมชาติ ริมฝีปากก็แดงดังผลตำลึงสุก
ชำเลืองมองแต่น้อย เป็นที่ติดตาตรึงใจยิ่งนัก
[346] มีลำแขนงามเหมือนทองคำ วงหน้าสวย
ถันทั้งคู่ก็เต่งตึงดังดอกบัวตูม มีเอวคอดกลมกลึง
สะโพกผึ่งผาย ลำขาน่ายินดี มีเครื่องประดับสวยงาม
[347] ผ้าสไบมีสีแดงแวววาว นุ่งห่มผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเขียว
มีรูปสมบัติที่ชวนชมโดยไม่รู้เบื่อ
ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด’
[348] หม่อมฉันเห็นสตรีสาวนั้นแล้วจึงคิดว่า
‘โอ ! สตรีสาวคนนี้มีรูปงามเหลือเกิน
เราไม่เคยเห็นด้วยนัยน์ตาดวงนี้ในที่ไหน ๆ มาก่อนเลย’
[349] ขณะนั้น สตรีสาวคนนั้นถูกชราย่ำยี
มีผิวพรรณแปลกไป ปากอ้า ฟันหัก ผมหงอก
น้ำลายไหล หน้าไม่สะอาด
[350] หูตึง นัยน์ตาฝ้าฟาง ถันหย่อนยาน ไม่งาม
เหี่ยวย่นทั่วกาย มีศีรษะและร่างกายสั่นงันงก
[351] หลังงอ มีไม้เท้าเป็นเพื่อนเดิน
ร่างกายซูบผอมซีดไป สั่นงันงก ล้มลงแล้วหายใจถี่ ๆ
[352] จากนั้น ความสังเวชที่ก่อให้เกิดขนพองสยองเกล้า
ซึ่งไม่เคยมีก็ได้มีแก่หม่อมฉันว่า
‘น่าติเตียน รูปไม่สะอาดที่พวกคนเขลายินดีกัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :433 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[353] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
มีจิตเบิกบานโสมนัส ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉัน
ผู้มีใจสังเวชแล้ว จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[354] “เขมา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า (มีของเหลว)
ไหลเข้าและไหลออก ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก
[355] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียว
ด้วยอารมณ์ที่ไม่งามเถิด
เธอจงเจริญกายคตาสติมากไปด้วยความเบื่อหน่ายเถิด
[356] รูปของหญิงนี้เป็นฉันใด
รูปกายของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปกายของเธอนั้นเป็นฉันใด
รูปของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น
เธอจงคลายความยินดีพอใจในกาย
ทั้งภายในและภายนอกเถิด
[357] จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์1 จงละมานานุสัยเสีย
แต่นั้นเธอจักเป็นผู้อยู่อย่างสงบ
เพราะมานานุสัยสงบระงับไป
[358] ชนเหล่าใดกำหนัดเพราะราคะเกาะติดกระแสอยู่
เหมือนแมลงมุมเกาะใยอยู่ตรงกลางที่ทำไว้เอง
ชนเหล่านั้นตัดกระแสราคะนั้นแล้ว ไม่มีความอาลัย
ละกามสุข หลีกไป”
[359] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงทราบว่า หม่อมฉันมีจิตควรแล้ว
จึงทรงแสดงมหานิทานสูตรเพื่อทรงแนะนำหม่อมฉัน

เชิงอรรถ :
1 อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนิจจัง คือ
หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตาแล้วถอนนิมิตเสียได้ (ขุ.ป. (แปล) 31/229/285)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :434 }