เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[335] “พระนางผู้มีโภคะเป็นอันมาก
เชิญไปชมพระเวฬุวันซึ่งเป็นที่สบายตา
ซึ่งเปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีของพระสุคต
สว่างไสวด้วยพระสิริตลอดเวลา”
[336] (หม่อมฉันทูลว่า)
“เมื่อใดพระมุนีเสด็จเข้ามาทรงรับบิณฑบาต
ยังกรุงราชคฤห์อันยอดเยี่ยม
เมื่อนั้น หม่อมฉันจะเข้าไปชมพระเวฬุวันมหาวิหาร”
[337] ขณะนั้น พระเวฬุวันมหาวิหาร
มีสวนดอกไม้ที่แย้มบาน มีเสียงหึ่งด้วยหมู่ภมรนานาชนิด
มีเสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ทั้งหมู่นกยูงก็รำแพน
[338] สงัดจากเสียงอย่างอื่น ไม่พลุกพล่าน
ประดับไปด้วยที่จงกรมต่าง ๆ
สะพรั่งไปด้วยแถวแห่งกุฎีและมณฑป
เรียงรายไปด้วยพระโยคีผู้บำเพ็ญเพียร
[339] หม่อมฉันเมื่อเดินเที่ยวไปได้รู้สึกว่า “นัยน์ตาของเรามีประโยชน์”
ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งประกอบกิจอยู่ แล้วคิดไปว่า
[340] ‘ภิกษุนี้ยังอยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม มีรูปงาม น่าปรารถนา
ปฏิบัติดีอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์เช่นนี้ เหมือนคนอยู่ในที่มืด
[341] ภิกษุนี้มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏินั่งอยู่ที่โคนไม้
ละความยินดีที่เกิดจากอารมณ์เข้าฌานอยู่หนอ
[342] ธรรมดาคฤหัสถ์บริโภคกามอย่างมีความสุข
แก่แล้วจึงควรประพฤติธรรมอันดีงามนี้ในภายหลังมิใช่หรือ’
[343] หม่อมฉันเข้าใจว่า ‘พระคันธกุฎีที่ประทับแห่งพระชินเจ้าว่างเปล่า’
จึงเดินเข้าไป ได้เห็นพระชินเจ้าผู้งดงามดังดวงอาทิตย์อุทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :432 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[344] ประทับสำราญอยู่พระองค์เดียว มีสตรีสาวสวยพัดวีอยู่
ครั้นแล้วจึงมีความคิดผิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค
ผู้องอาจกว่านรชนพระองค์นี้มิได้เศร้าหมองเลย
[345] หญิงสาวนั้นก็มีรัศมีเปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ
มีหน้าตางดงามดังปทุมชาติ ริมฝีปากก็แดงดังผลตำลึงสุก
ชำเลืองมองแต่น้อย เป็นที่ติดตาตรึงใจยิ่งนัก
[346] มีลำแขนงามเหมือนทองคำ วงหน้าสวย
ถันทั้งคู่ก็เต่งตึงดังดอกบัวตูม มีเอวคอดกลมกลึง
สะโพกผึ่งผาย ลำขาน่ายินดี มีเครื่องประดับสวยงาม
[347] ผ้าสไบมีสีแดงแวววาว นุ่งห่มผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเขียว
มีรูปสมบัติที่ชวนชมโดยไม่รู้เบื่อ
ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด’
[348] หม่อมฉันเห็นสตรีสาวนั้นแล้วจึงคิดว่า
‘โอ ! สตรีสาวคนนี้มีรูปงามเหลือเกิน
เราไม่เคยเห็นด้วยนัยน์ตาดวงนี้ในที่ไหน ๆ มาก่อนเลย’
[349] ขณะนั้น สตรีสาวคนนั้นถูกชราย่ำยี
มีผิวพรรณแปลกไป ปากอ้า ฟันหัก ผมหงอก
น้ำลายไหล หน้าไม่สะอาด
[350] หูตึง นัยน์ตาฝ้าฟาง ถันหย่อนยาน ไม่งาม
เหี่ยวย่นทั่วกาย มีศีรษะและร่างกายสั่นงันงก
[351] หลังงอ มีไม้เท้าเป็นเพื่อนเดิน
ร่างกายซูบผอมซีดไป สั่นงันงก ล้มลงแล้วหายใจถี่ ๆ
[352] จากนั้น ความสังเวชที่ก่อให้เกิดขนพองสยองเกล้า
ซึ่งไม่เคยมีก็ได้มีแก่หม่อมฉันว่า
‘น่าติเตียน รูปไม่สะอาดที่พวกคนเขลายินดีกัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :433 }