เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[327] หม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามีนั้น
ยินดีแต่ในการบำรุงรูปโฉม
ไม่เอื้อเฟื้ออย่างมากด้วยคิดว่า
พระพุทธเจ้ามีปกติกล่าวโทษของรูป
[328] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงโปรดให้นักขับ
ขับร้องเพลงพรรณนาพระเวฬุวันเจาะจงหม่อมฉัน
เพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันให้มีความรู้สึก
[329] หม่อมฉันสำคัญว่าพระเวฬุวัน
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสุคต
เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ผู้ใดยังมิได้เห็น
ผู้นั้นก็จัดว่ายังไม่ได้เห็นสวนนันทวัน
[330] พระเวฬุวัน ซึ่งเป็นสถานที่น่าเพลิดเพลินยินดีของนรชน
ผู้ใดได้เห็นแล้ว ผู้นั้นเหมือนได้เห็นสวนนันทวัน
ซึ่งเป็นสถานที่เพลิดเพลินของท้าวอัมรินทราธิราช
[331] ท้าวสักกเทวราชและเทพทั้งหลายละสวนนันทวันแล้ว
ลงมาที่พื้นปฐพี เห็นพระเวฬุวันที่น่ารื่นรมย์แล้ว
ก็อัศจรรย์ใจ มิรู้เบื่อ
[332] พระเวฬุวันเกิดขึ้นเพราะบุญของพระราชา
อันบุญญานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าประดับแล้ว
ใครเล่าจะประมวลคุณแห่งพระเวฬุวันมากล่าวให้หมดสิ้นได้
[333] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังความสำเร็จแห่งสมบัติของพระเวฬุวัน
ที่เสนาะโสตไพเราะจับใจหม่อมฉัน
ใคร่จะได้ชมอุทยานนั้นจึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ
[334] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดส่งหม่อมฉัน
ผู้มุ่งจะชมอุทยานนั้น
ไปพร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ด้วยพระดำรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :431 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[335] “พระนางผู้มีโภคะเป็นอันมาก
เชิญไปชมพระเวฬุวันซึ่งเป็นที่สบายตา
ซึ่งเปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีของพระสุคต
สว่างไสวด้วยพระสิริตลอดเวลา”
[336] (หม่อมฉันทูลว่า)
“เมื่อใดพระมุนีเสด็จเข้ามาทรงรับบิณฑบาต
ยังกรุงราชคฤห์อันยอดเยี่ยม
เมื่อนั้น หม่อมฉันจะเข้าไปชมพระเวฬุวันมหาวิหาร”
[337] ขณะนั้น พระเวฬุวันมหาวิหาร
มีสวนดอกไม้ที่แย้มบาน มีเสียงหึ่งด้วยหมู่ภมรนานาชนิด
มีเสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ทั้งหมู่นกยูงก็รำแพน
[338] สงัดจากเสียงอย่างอื่น ไม่พลุกพล่าน
ประดับไปด้วยที่จงกรมต่าง ๆ
สะพรั่งไปด้วยแถวแห่งกุฎีและมณฑป
เรียงรายไปด้วยพระโยคีผู้บำเพ็ญเพียร
[339] หม่อมฉันเมื่อเดินเที่ยวไปได้รู้สึกว่า “นัยน์ตาของเรามีประโยชน์”
ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งประกอบกิจอยู่ แล้วคิดไปว่า
[340] ‘ภิกษุนี้ยังอยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม มีรูปงาม น่าปรารถนา
ปฏิบัติดีอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์เช่นนี้ เหมือนคนอยู่ในที่มืด
[341] ภิกษุนี้มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏินั่งอยู่ที่โคนไม้
ละความยินดีที่เกิดจากอารมณ์เข้าฌานอยู่หนอ
[342] ธรรมดาคฤหัสถ์บริโภคกามอย่างมีความสุข
แก่แล้วจึงควรประพฤติธรรมอันดีงามนี้ในภายหลังมิใช่หรือ’
[343] หม่อมฉันเข้าใจว่า ‘พระคันธกุฎีที่ประทับแห่งพระชินเจ้าว่างเปล่า’
จึงเดินเข้าไป ได้เห็นพระชินเจ้าผู้งดงามดังดวงอาทิตย์อุทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :432 }