เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[320] คือ (1) พระนางสมณี (2) พระนางสมณคุตตา
(3) พระนางภิกษุณี (4) พระนางภิกขุทาสิกา
(5) พระนางธรรมา (6) พระนางสุธรรมา
(7) พระนางสังฆทาสิกา
[321] (พระราชธิดาทั้ง 7 นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน 1 พระอุบลวรรณาเถรี 1
พระปฏาจาราเถรี 1 พระกุณฑลเกสีเถรี 1
พระกีสาโคตมีเถรี 1 พระธรรมทินนาเถรี 1
และคนที่ 7 เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[322] บางครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้เป็นดังดวงอาทิตย์ของนรชน
ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์
หม่อมฉันได้ฟังมหานิทานสูตร1แล้วนำมาศึกษาปฏิบัติอยู่
[323] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[324] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเป็นพระธิดาที่พอพระทัย
รักใคร่ โปรดปรานของพระเจ้ามัททราช
ในสากลนครที่อุดมสมบูรณ์
[325] พร้อมกับในกาลที่หม่อมฉันพอเกิดมา
นครนั้นได้มีแต่ความเกษมสำราญ
เพราะฉะนั้น นามว่าเขมา จึงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันโดยคุณ
[326] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว
มีรูปร่างและผิวพรรณงดงาม
พระราชบิดาก็โปรดประทานหม่อมฉันแก่พระเจ้าพิมพิสาร

เชิงอรรถ :
1 ที.ม. (แปล) 10/95/57-76

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :430 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[327] หม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามีนั้น
ยินดีแต่ในการบำรุงรูปโฉม
ไม่เอื้อเฟื้ออย่างมากด้วยคิดว่า
พระพุทธเจ้ามีปกติกล่าวโทษของรูป
[328] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงโปรดให้นักขับ
ขับร้องเพลงพรรณนาพระเวฬุวันเจาะจงหม่อมฉัน
เพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันให้มีความรู้สึก
[329] หม่อมฉันสำคัญว่าพระเวฬุวัน
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสุคต
เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ผู้ใดยังมิได้เห็น
ผู้นั้นก็จัดว่ายังไม่ได้เห็นสวนนันทวัน
[330] พระเวฬุวัน ซึ่งเป็นสถานที่น่าเพลิดเพลินยินดีของนรชน
ผู้ใดได้เห็นแล้ว ผู้นั้นเหมือนได้เห็นสวนนันทวัน
ซึ่งเป็นสถานที่เพลิดเพลินของท้าวอัมรินทราธิราช
[331] ท้าวสักกเทวราชและเทพทั้งหลายละสวนนันทวันแล้ว
ลงมาที่พื้นปฐพี เห็นพระเวฬุวันที่น่ารื่นรมย์แล้ว
ก็อัศจรรย์ใจ มิรู้เบื่อ
[332] พระเวฬุวันเกิดขึ้นเพราะบุญของพระราชา
อันบุญญานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าประดับแล้ว
ใครเล่าจะประมวลคุณแห่งพระเวฬุวันมากล่าวให้หมดสิ้นได้
[333] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังความสำเร็จแห่งสมบัติของพระเวฬุวัน
ที่เสนาะโสตไพเราะจับใจหม่อมฉัน
ใคร่จะได้ชมอุทยานนั้นจึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ
[334] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดส่งหม่อมฉัน
ผู้มุ่งจะชมอุทยานนั้น
ไปพร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ด้วยพระดำรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :431 }