เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[311] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่าโกนาคมนะ
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[312] ครั้งนั้นเอง ชน 3 คน คือนางธนัญชานีพราหมณี
พระนางสุเมธาเถรี และหม่อมฉัน
เป็นคนของตระกูลที่สำเร็จความประสงค์ทุกอย่างในกรุงพาราณสี
[313] หม่อมฉันทั้งหลายได้ถวายสังฆารามแก่พระมุนีหลายพันองค์
และได้สร้างวิหารอุทิศถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งสงฆ์สาวก
[314] หม่อมฉันทั้งหลายทั้งหมดพากันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ
และเมื่อเกิดในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
[315] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[316] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[317] หม่อมฉันเป็นธิดาคนโตของพระองค์มีนามปรากฏว่าสมณี
ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา
[318] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ 20,000 ปี
[319] พระราชกัญญาทั้ง 7 พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :429 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 8. เขมาเถริยาปทาน
[320] คือ (1) พระนางสมณี (2) พระนางสมณคุตตา
(3) พระนางภิกษุณี (4) พระนางภิกขุทาสิกา
(5) พระนางธรรมา (6) พระนางสุธรรมา
(7) พระนางสังฆทาสิกา
[321] (พระราชธิดาทั้ง 7 นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน 1 พระอุบลวรรณาเถรี 1
พระปฏาจาราเถรี 1 พระกุณฑลเกสีเถรี 1
พระกีสาโคตมีเถรี 1 พระธรรมทินนาเถรี 1
และคนที่ 7 เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[322] บางครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้เป็นดังดวงอาทิตย์ของนรชน
ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์
หม่อมฉันได้ฟังมหานิทานสูตร1แล้วนำมาศึกษาปฏิบัติอยู่
[323] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[324] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเป็นพระธิดาที่พอพระทัย
รักใคร่ โปรดปรานของพระเจ้ามัททราช
ในสากลนครที่อุดมสมบูรณ์
[325] พร้อมกับในกาลที่หม่อมฉันพอเกิดมา
นครนั้นได้มีแต่ความเกษมสำราญ
เพราะฉะนั้น นามว่าเขมา จึงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันโดยคุณ
[326] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว
มีรูปร่างและผิวพรรณงดงาม
พระราชบิดาก็โปรดประทานหม่อมฉันแก่พระเจ้าพิมพิสาร

เชิงอรรถ :
1 ที.ม. (แปล) 10/95/57-76

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :430 }