เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[223] (ได้กราบทูลว่า) “ข้าแต่พระวีรเจ้า
น่าชมเชย พระโคตมีเถรี
เป็นผู้อนุเคราะห์หม่อมฉันทั้งปวง
หม่อมฉันทั้งหลายถูกพระนางอบรมด้วยบุญ
จึงได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
[224] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[225] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[226] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[227] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ1
และในเจโตปริยญาณ2
[228] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ3
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงหูทิพย์, ญาณพิเศษที่ทำให้ฟังอะไรได้ยินหมดตามปรารถนา (ที.สี. (แปล) 9/240-1/80)
2 หมายถึงญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้, อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เป็นต้น (ที.สี.
(แปล) 9/242-3/80-81)
3 หมายถึงความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน,ระลึกชาติได้ (ที.สี. (แปล) 9/244-5/82)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :417 }