เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ข้าพเจ้าประเสริฐกว่าสตรีทุกคน
ได้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงพระชินเจ้า
[216] พระโอรสของข้าพเจ้าพระองค์นั้น
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์แล้ว
ได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ภายหลังข้าพเจ้าพร้อมด้วยนางศากิยานี 500 นางจึงได้บวช
[217] แล้วได้ประสบสันติสุขพร้อมด้วยนางศากิยานีผู้มีความเพียร
ในครั้งนั้น ชนเหล่าใดผู้เคยเป็นสามีของพวกข้าพเจ้าในชาติก่อน
[218] ชนเหล่านั้น เคยทำบุญร่วมกันมา
ประพฤติตามคำสอนที่ควรบูชา
พระสุคตทรงอนุเคราะห์แล้ว ได้บรรลุอรหัตตผล
[219] ภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มาก
นอกจากพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีนั้น
ได้พากันเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า รุ่งโรจน์
เหมือนดวงดาวทั้งหลายที่โคจรเกาะกลุ่มกันไป
[220] ภิกษุณีเหล่านั้น เป็นผู้ศึกษาแล้วในบุญกรรม
จึงแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ
เหมือนนายช่างทองที่ได้รับการศึกษาแล้ว
แสดงเครื่องประดับทองคำชนิดต่าง ๆ
[221] ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น
ครั้นแสดงปาฏิหาริย์มากมายหลายอย่างแล้ว
ทำพระมุนีผู้ประเสริฐกว่าดวงอาทิตย์
พร้อมทั้งบริษัทให้ทรงพอพระทัยยินดีแล้ว
[222] ได้พากันลงจากท้องฟ้า
ไหว้พระฤๅษีผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า)
ผู้อันพระศาสดาผู้เป็นนระผู้เลิศ
ทรงอนุญาตแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :416 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[223] (ได้กราบทูลว่า) “ข้าแต่พระวีรเจ้า
น่าชมเชย พระโคตมีเถรี
เป็นผู้อนุเคราะห์หม่อมฉันทั้งปวง
หม่อมฉันทั้งหลายถูกพระนางอบรมด้วยบุญ
จึงได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
[224] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[225] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[226] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[227] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ1
และในเจโตปริยญาณ2
[228] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ3
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงหูทิพย์, ญาณพิเศษที่ทำให้ฟังอะไรได้ยินหมดตามปรารถนา (ที.สี. (แปล) 9/240-1/80)
2 หมายถึงญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้, อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เป็นต้น (ที.สี.
(แปล) 9/242-3/80-81)
3 หมายถึงความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน,ระลึกชาติได้ (ที.สี. (แปล) 9/244-5/82)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :417 }