เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[170] “ก็อย่างไร พระตถาคตผู้สัพพัญญู
จึงชื่อว่าอันบุคคลพึงวิงวอน
และอย่างไรพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าอันบุคคลไม่พึงวิงวอน
พระองค์อันหม่อมฉันทูลถามถึงเหตุนั้นแล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกเหตุนั้นแก่หม่อมฉันด้วยเถิด”
[171] “ท่านจงดูสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
นี้เป็นการวิงวอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
[172] ต่อแต่นั้น ดิฉันไปสู่สำนักของภิกษุณี
อยู่คนเดียวคิดได้อย่างแจ้งชัดว่า
“พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่ง ผู้ถึงที่สุดแห่งไตรภพ1
ทรงพอพระทัยบริษัทที่สามัคคีกัน
[173] เอาเถิด เราจะนิพพาน
อย่าได้พบเห็นความวิบัตินั้นเลย”
ครั้นดิฉันคิดดังนี้แล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ2(พระพุทธเจ้า)
[174] แล้วได้กราบทูลกาลเป็นที่ปรินิพพาน
กับพระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตว่า
“จงรู้กาลเองเถิด พระนางโคตมี”
[175] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ไตรภพ หมายถึงกามภพ รูปภพ อรูปภพ (ที.ปา. (แปล) 11/305/265)
2 สตฺตโม=ประเสริฐ (อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ 695)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :410 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[176] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[177] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[178] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
“โคตมี คนพาลเหล่าใดมีความสงสัย
ในการตรัสรู้ธรรมของสตรีทั้งหลาย
ท่านจงแสดงฤทธิ์เพื่อการละทิฏฐิของคนพาลเหล่านั้น”
[179] ครั้งนั้น พระโคตมีเถรีหมอบกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า แสดงฤทธิ์เป็นอเนกประการ
ตามพุทธานุญาต
[180] คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้
ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาก็ได้
[181] ไปได้ไม่ติดขัด ดำลงไปในแผ่นดินเหมือนดำลงไปในน้ำก็ได้
เดินไปบนน้ำโดยที่น้ำไม่แตกกระจายเหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้
[182] นั่งขัดสมาธิลอยไปในอากาศเหมือนนางนกก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
[183] ทำสิเนรุบรรพตให้เป็นคันร่ม
ทำแผ่นดินใหญ่ให้เป็นตัวร่ม
พลิกเอาเบื้องล่างขึ้น เดินกั้นร่มไปมาในอากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :411 }