เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[162] พระโคตมีเถรีได้ตรัสกับพระอานนท์
ผู้เชี่ยวชาญพระปริยัติธรรมที่ลึกล้ำปานสาคร
ฝักใฝ่ในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าซึ่งพร่ำรำพันอยู่ดังกล่าวมาว่า
[163] “ลูกเอ๋ย เมื่อกาลเป็นที่ร่าเริงปรากฏแล้ว
พ่อไม่ควรที่จะเศร้าโศกถึงการตายของแม่
การนิพพานของแม่นั้นใกล้เข้ามาแล้ว
[164] ลูกเอ๋ย พระศาสดาลูกได้ทูลให้ทรงยินยอม
จึงได้ทรงอนุญาตให้แม่บวช
ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเสียใจไปเลย
ความพยายามของพ่อต้องมีผล
[165] ก็บทใด ที่เจ้าลัทธิทั้งหลายผู้เก่าก่อนไม่เห็น
บทนั้นอันเด็กหญิงซึ่งมีอายุ 7 ขวบรู้แจ้งประจักษ์แล้ว
[166] พ่อจงรักษาพุทธศาสนาไว้
การเห็นลูกเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
ลูกเอ๋ย แม่จะไปสถานที่ที่บุคคลไปแล้วไม่ปรากฏ
[167] ในกาลบางคราว พระผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงเปล่งวาจาแสดงธรรม
ครั้งนั้น แม่ผู้มีความอนุเคราะห์จึงกล่าววาจาที่มีความหวังว่า
[168] “ข้าแต่พระมหาวีระ ขอพระองค์จงทรงพระชนม์อยู่นาน ๆ
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์จงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวงเถิด
ขอพระองค์ทรงอย่าชราและปรินิพพานเลย”
[169] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ตรัสกับแม่ผู้กราบทูลอยู่
เช่นนั้นว่า “พระนางโคตมี พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นผู้อันใคร ๆ ไม่ควรวิงวอน เหมือนอย่างที่เธอวิงวอนอยู่เลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :409 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[170] “ก็อย่างไร พระตถาคตผู้สัพพัญญู
จึงชื่อว่าอันบุคคลพึงวิงวอน
และอย่างไรพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าอันบุคคลไม่พึงวิงวอน
พระองค์อันหม่อมฉันทูลถามถึงเหตุนั้นแล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกเหตุนั้นแก่หม่อมฉันด้วยเถิด”
[171] “ท่านจงดูสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
นี้เป็นการวิงวอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
[172] ต่อแต่นั้น ดิฉันไปสู่สำนักของภิกษุณี
อยู่คนเดียวคิดได้อย่างแจ้งชัดว่า
“พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่ง ผู้ถึงที่สุดแห่งไตรภพ1
ทรงพอพระทัยบริษัทที่สามัคคีกัน
[173] เอาเถิด เราจะนิพพาน
อย่าได้พบเห็นความวิบัตินั้นเลย”
ครั้นดิฉันคิดดังนี้แล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ2(พระพุทธเจ้า)
[174] แล้วได้กราบทูลกาลเป็นที่ปรินิพพาน
กับพระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตว่า
“จงรู้กาลเองเถิด พระนางโคตมี”
[175] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ไตรภพ หมายถึงกามภพ รูปภพ อรูปภพ (ที.ปา. (แปล) 11/305/265)
2 สตฺตโม=ประเสริฐ (อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ 695)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :410 }