เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[117] อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธา
เห็นภิกษุณีทั้งหลายกำลังเดินไปตามถนน
ได้พากันออกจากเรือนไปหมอบลงแทบเท้า
แล้วกล่าวคำนี้กับพระโคตมีนั้นว่า
[118] “การที่พระแม่เจ้าละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลาย
ผู้จมอยู่ในโภคะเป็นอันมาก ไม่มีที่พึ่งแล้วนิพพานไม่สมควร”
อุบาสิกาเหล่านั้นมีความต้องการบีบคั้นจึงพร่ำเพ้อ
[119] เพื่อจะให้อุบาสิกาเหล่านั้นละความเศร้าโศก
พระนางจึงได้ตรัสอย่างไพเราะว่า
“อย่าร้องไห้ไปเลย ลูกทั้งหลาย
วันนี้เป็นเวลารื่นเริงของท่านทั้งหลาย
[120] ทุกข์ฉันกำหนดรู้แล้ว
เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ฉันเว้นขาดแล้ว
นิโรธฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว
และมรรคฉันก็ได้อบรมดีแล้ว
ภาณวารที่ 1 จบ

[121] พระศาสดาฉันก็ได้บำรุงแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระหนัก1ฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่เป็นเหตุนำไปสู่ภพฉันก็ถอนได้แล้ว
[122] กุลบุตรกุลธิดาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
ฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ

เชิงอรรถ :
1 ภาระหนัก หมายถึงขันธภาระ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ (ขุ.เถร.อ.
2/604/240)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :402 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[123] พระพุทธเจ้าและพระสัทธรรมของพระองค์
มิได้ย่อหย่อนยังดำรงอยู่ตราบใด ตราบนั้นเป็นเวลาสมควรแล้ว
ที่ฉันจะนิพพาน ลูกเอ๋ย อย่าได้เศร้าโศกถึงแม่เลย
[124] พระชินเจ้า พระราหุล พระอัญญาโกณฑัญญะ
พระอานนท์ และพระนันทะเป็นต้น ก็ยังดำรงอยู่
ขอพระสงฆ์จงมีประโยชน์สุขร่วมกัน
ขอให้เดียรถีย์จงเป็นผู้มีความโง่เขลาถูกกำจัดเสียเถิด
[125] ยศคือการย่ำยีมารแห่งวงศ์พระเจ้าโอกกากราช
ฉันก็ให้รุ่งเรืองแล้ว
ลูก ๆ ถึงเวลาที่แม่จะนิพพานแล้วมิใช่หรือ
[126] ความปรารถนาที่แม่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นมาช้านาน
จะสำเร็จแก่แม่ในวันนี้
เวลานี้เป็นเวลาที่กลองอานันทเภรีบันลือเสียง
ลูกเอ๋ย น้ำตาจะมีประโยชน์อะไรแก่พวกลูก
[127] ถ้าลูกทั้งหลายจะมีความเอ็นดู
หรือมีความกตัญญูในมารดา
ก็ขอให้ลูกทุกคนจงทำความเพียรให้มั่น
เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมเถิด
[128] พระสัมมาพุทธเจ้า ซึ่งแม่ทูลอ้อนวอน
จึงได้ทรงประทานการบรรพชาแก่สตรีทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น แม่ยินดี ฉันใด
ลูกทั้งหลายก็จงเจริญรอยตามความยินดีนั้น ฉันนั้นเถิด”
[129] ครั้นพระนางพร่ำสอนอุบาสิกาเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว
มีภิกษุณีทั้งหลายห้อมล้อมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ไหว้แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :403 }