เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
หม่อมฉันทั้งหลายก็จักไปสู่เมืองอันยอดเยี่ยมคือพระนิพพาน
พร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน”
[111] พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า
“เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน ฉันจักว่าอะไรได้เล่า”
แล้วได้ออกจากสำนักภิกษุณีไป
พร้อมกับภิกษุณีทั้งหมดในครั้งนั้น
[112] พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี
ได้กล่าวกับทวยเทพทั้งหลายว่า
“ขอเทพทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ สำนักภิกษุณี
จงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
การเห็นสำนักภิกษุณีของข้าพเจ้านี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
[113] ในที่ใดไม่มีความแก่และความตาย
ไม่มีการสมาคมกับสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก
ไม่มีการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก
ที่นั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นอสังขตสถาน
(สถานที่ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง)”
[114] พระโอรสของพระสุคตทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากราคะ
ได้สดับคำนั้น เป็นผู้อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศกคร่ำครวญว่า
“น่าสังเวชหนอ เราทั้งหลายช่างมีบุญน้อย
[115] สำนักภิกษุณีนี้จักว่างเปล่า
เพราะเว้นจากภิกษุณีเหล่านั้น
ภิกษุณีผู้เป็นชิโนรสจะไม่ปรากฏ
เหมือนดวงดาวทั้งหลายไม่ปรากฏในเวลาสว่าง
[116] พระมหาปชาบดีโคตมีจะนิพพาน
พร้อมด้วยภิกษุณีอีก 500 รูป
เหมือนกับแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร
พร้อมกับแม่น้ำ 500 สาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :401 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 7. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[117] อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธา
เห็นภิกษุณีทั้งหลายกำลังเดินไปตามถนน
ได้พากันออกจากเรือนไปหมอบลงแทบเท้า
แล้วกล่าวคำนี้กับพระโคตมีนั้นว่า
[118] “การที่พระแม่เจ้าละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลาย
ผู้จมอยู่ในโภคะเป็นอันมาก ไม่มีที่พึ่งแล้วนิพพานไม่สมควร”
อุบาสิกาเหล่านั้นมีความต้องการบีบคั้นจึงพร่ำเพ้อ
[119] เพื่อจะให้อุบาสิกาเหล่านั้นละความเศร้าโศก
พระนางจึงได้ตรัสอย่างไพเราะว่า
“อย่าร้องไห้ไปเลย ลูกทั้งหลาย
วันนี้เป็นเวลารื่นเริงของท่านทั้งหลาย
[120] ทุกข์ฉันกำหนดรู้แล้ว
เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ฉันเว้นขาดแล้ว
นิโรธฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว
และมรรคฉันก็ได้อบรมดีแล้ว
ภาณวารที่ 1 จบ

[121] พระศาสดาฉันก็ได้บำรุงแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระหนัก1ฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่เป็นเหตุนำไปสู่ภพฉันก็ถอนได้แล้ว
[122] กุลบุตรกุลธิดาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
ฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ

เชิงอรรถ :
1 ภาระหนัก หมายถึงขันธภาระ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ (ขุ.เถร.อ.
2/604/240)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :402 }