เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 1. ภัททาลิเถราปทาน
[20] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด 118 กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 1,000 ชาติ
[21] และจักครองเทวสมบัติตลอด 300 ชาติ
จักเป็นเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[22] ในกัปที่ 30,000 (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[23] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[24] ในกัปที่ 30,000 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เห็นพระศาสดา ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
และได้แสวงหาอมตบท1 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
[25] การที่ข้าพเจ้ารู้ศาสนธรรมนี้
เป็นลาภที่ข้าพเจ้าได้ดีแล้ว
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[26] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าพระองค์ได้บรรลุอมตบทแล้ว
เพราะกล่าวสดุดีพระพุทธญาณ

เชิงอรรถ :
1 อมตบท หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/267/276, ขุ.อป.อ. 2/67/102)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :4 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 1. ภัททาลิเถราปทาน
[27] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมเป็นผู้มีความสุขในที่ทุกสถาน
นี้เป็นผลที่ข้าพเจ้ากล่าวสดุดีพระพุทธญาณ
[28] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพัน1 ได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[29] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[30] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 32 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[31] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 43 วิโมกข์ 84
และอภิญญา 65 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภัททาลิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภัททาลิเถราปทานที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 กิเลสเครื่องผูกพัน หมายถึงสังโยชน์ 10 (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/253)
2 ที.ปา. (แปล) 11/305/275, องฺ.ทสก. (แปล) 24/102/243-244
3 องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/172/242-243
4 ที.ปา. (แปล) 11/339/350-351
5 อภิญญา 6 หมายถึงญาณพิเศษมี 6 คือ (1) อิทธิวิธิ(แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ) (2) ทิพพโสต(หูทิพย์)
(3) เจโตปริยญาณ(ญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้) (4) ปุพเพนิวาสญาณ(ญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้)
(5) ทิพพจักขุญาณ(ญาณคือตาทิพย์เห็นสัตว์ที่กำลังจุติและอุบัติได้) (6) อาสวักขยญาณ(ญาณคือการ
ทำลายกิเลสให้สิ้นไป) (ขุ.อป.อ. 1/32/129)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :5 }