เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 4. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
[52] ความโทมนัสที่ทำจิตของหม่อมฉันให้เร่าร้อนหม่อมฉันก็ไม่รู้จัก
ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามหม่อมฉันก็ไม่รู้จัก
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[53] พี่เลี้ยงนางนม หญิงค่อม และหญิงรับใช้จำนวนมาก
ต่างก็ปรนนิบัติหม่อมฉัน หม่อมฉันถูกพี่เลี้ยงต่างผลัดกันอุ้ม
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[54] พี่เลี้ยงพวกหนึ่งอาบน้ำให้หม่อมฉัน
พวกหนึ่งคอยป้อนข้าวหม่อมฉัน
พวกหนึ่งประดับตกแต่งหม่อมฉัน
พวกหนึ่งชวนหม่อมฉันให้รื่นรมย์ทุกเวลา
พวกหนึ่งลูบไล้ของหอมให้
นี้เป็นผลแห่งการปูอาสนะที่เดียวถวาย
[55] บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของหม่อมฉันผู้อยู่ที่มณฑป
โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง ย่อมปรากฏขึ้น
[56] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของหม่อมฉัน
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
แม้ในวันนี้หม่อมฉันก็สละราชสมบัติออกบวชเป็นบรรพชิต
[57] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปูอาสนะที่เดียวถวาย
[58] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :393 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 5. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
[59] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[60] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเอกาสนทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกาสนทายิกาเถริยาปทานที่ 4 จบ

5. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปทายิกาเถรี
(พระปัญจทีปทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[61] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้ประพฤติธรรมอยู่ในกรุงหงสวดี
มีความต้องการกุศล จึงท่องเที่ยวไปตามวัดวาอาราม
[62] ได้เห็นต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ ในกาฬปักข์(ข้างแรม)
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในต้นโพธิ์นั้นแล้วนั่งที่โคนต้นโพธิ์
[63] หม่อมฉันตั้งจิตคารวะประนมมือเหนือศีรษะ
ประกาศถึงความโสมนัสแล้วคิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า
[64] ‘ถ้าพระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณหาประมาณมิได้
ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอเหมือน
โปรดแสดงปาฏิหาริย์แก่เราเถิด
คือขอให้ต้นโพธิ์นี้จงเปล่งรัศมีเถิด’
[65] ทันใดนั้นเอง พร้อมกับที่หม่อมฉันรำพึง
ต้นโพธิ์มีรัศมีดั่งทองคำล้วน โชติช่วงสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :394 }