เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 7. กฏัจฉุภิกขทายิกาเถริยาปทาน
[61] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้พระศาสดา
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก ทรงรับแล้ว
ได้ประทับยืนที่ถนนทรงทำอนุโมทนาแก่หม่อมฉันว่า
[62] ‘เธอถวายภิกษาหารทัพพีหนึ่งนี้แล้ว
จักได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
จักเป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช 36 พระองค์
[63] จักเป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ 50 พระองค์
และจักได้สิ่งตามที่ใจปรารถนาทุกอย่างในกาลทั้งปวง
[64] เธอเสวยสมบัติแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีความห่วงใยบวช
จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน’
[65] ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก เป็นนักปราชญ์
ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า เหมือนพญาหงส์ไปในอากาศ
[66] ทานหม่อมฉันถวายไว้ดีแล้ว
ยัญสมบัติหม่อมฉันก็ได้บูชาดีแล้ว
หม่อมฉันได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว
ก็เพราะการถวายภิกษาหารทัพพีหนึ่ง
[67] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษาหาร
[68] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :376 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 8. สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทาน
[69] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[70] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระกฏัจฉุภิกขทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
กฏัจฉุภิกขทายิกาเถริยาปทานที่ 7 จบ

8. สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตอุปปลมาลิกาเถรี
(พระสัตตอุปปลมาลิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[71] ในกรุงอรุณวดี มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่าอรุณ
หม่อมฉันเป็นพระมเหสีของท้าวเธอ หม่อมฉันไม่ได้ร้อยพวงมาลัย
[72] ได้หยิบดอกอุบลมีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ทิพย์มา 7 ดอก
แล้วนั่งในปราสาทที่ประเสริฐ คิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า
[73] ‘ประโยชน์อะไรสำหรับเราด้วยพวงมาลัยเหล่านี้
ซึ่งเรานำมาประดับศีรษะของตนเอง
เราควรนำไปบูชาพระญาณของพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด จะประเสริฐกว่า’
[74] เราเมื่อจะบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งแล้วที่ใกล้ประตู
จักบูชาพระมหามุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาที่พระองค์เสด็จมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :377 }