เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 6. เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทาน
[45] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระนฬมาลิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นฬมาลิกาเถริยาปทานที่ 5 จบ

6. เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกปิณฑปาตทายิกาเถรี
(พระเอกปิณฑปาตทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[46] ในกรุงพันธุมดี มีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง
พระนามว่าพันธุมา หม่อมฉันเป็นพระมเหสีของท้าวเธอ
ย่อมสนทนากันเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น
[47] ครั้งนั้น หม่อมฉันนั่งอยู่ในที่สงัด คิดอย่างนี้ว่า
‘กุศลที่จะนำติดตัวไปซึ่งเราทำไว้ไม่มีเลย
[48] เราคงจะต้องตกนรกที่มีความเร่าร้อนมาก
ทั้งเผ็ดร้อนร้ายกาจแสนจะทารุณโดยแน่นอน
เราไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย’
[49] หม่อมฉันจึงไปเข้าเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงพระราชทานสมณะ
แก่หม่อมฉันสักองค์หนึ่งเถิด
หม่อมฉันจักนิมนต์ท่านให้ฉัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :373 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 6. เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทาน
[50] พระมหาราชาได้พระราชทานสมณะ
ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว1แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันรับบาตรของท่านมาแล้ว
นิมนต์ให้ฉันจนอิ่มหนำด้วยอาหารอย่างดีเยี่ยม
[51] หม่อมฉันได้ปรุงอาหารอย่างดีเยี่ยม
และเครื่องลูบไล้ที่มีกลิ่นหอม
ปิดด้วยตาข่าย คลุมด้วยผ้าสีเหลือง
[52] หม่อมฉันระลึกถึงวัตถุทานของหม่อมฉันนี้เป็นอารมณ์จนตลอดชีวิต
ทำจิตให้เลื่อมใสในกุศลกรรมนั้นแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[53] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช 30 พระองค์
สิ่งที่ใจของหม่อมฉันปรารถนาก็บังเกิดตามความปรารถนา
[54] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสี
ของพระเจ้าจักรพรรดิ 20 พระองค์
เป็นหญิงผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้แล้ว
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่2
[55] หม่อมฉันเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูกพันทุกอย่างแล้ว
หม่อมฉันปราศจากตัณหาที่จะให้เกิดอีก
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

เชิงอรรถ :
1 อินทรีย์อันอบรมแล้ว ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันอบรมแล้วด้วย
อริยมรรคภาวนา (ขุ.เถรี.อ. 182-188/210)
2 ภพน้อยภพใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความเจริญและความเสื่อม หรือสมบัติและวิบัติ ความยั่งยืนและ
ความขาดสูญ บุญและบาป (ขุ.จริยา.อ. 2/23)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :374 }