เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 2. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[40] ครั้นปูลาดอาสนะเสร็จแล้วประนมมือเหนือศีรษะ
ประกาศถึงความโสมนัสแล้ว ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า
[41] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ขอพระองค์ผู้เป็นดังศัลยแพทย์ผู้ถอนลูกศร
ผู้เยียวยาความเดือดร้อน
ได้โปรดประทานการเยียวยาแก่ข้าพระองค์
ผู้ถูกความกำหนัดครอบงำด้วยเถิด
[42] ข้าแต่พระมุนี ชนเหล่าใดมีความต้องการบุญ
พบเห็นพระองค์ผู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ชนเหล่านั้นย่อมถึงความสำเร็จประโยชน์ที่ยั่งยืน
(และ)เขาเหล่านั้นจะพึงเป็นผู้ไม่แก่
[43] ข้าพระองค์หาได้มีไทยธรรมถวายพระองค์ไม่
เพราะข้าพระองค์บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง
ข้าพระองค์มีแต่อาสนะนี้
โปรดประทับนั่งบนเตียงไม้เถิด
[44] พระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มีความสะดุ้ง ผู้เป็นดุจราชสีห์
ได้ประทับนั่งบนเตียงไม้แล้ว สักครู่จึงได้ตรัสคำนี้ว่า
[45] ท่านจงเบาใจเถิด อย่าได้กลัวเลย
ท่านได้แก้วมณีโชติรสแล้ว
อาสนะที่ท่านปรารถนาทั้งหมด
จักสำเร็จบริบูรณ์แก่ท่าน
[46] บุญที่บุคคลบำเพ็ญไว้ดีแล้วในเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม
เป็นบุญไม่น้อยเลย
ผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วสามารถจะถอนตนเองขึ้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :37 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 3. เอกาสนทายกเถราปทาน
[47] ด้วยการถวายอาสนะนี้ และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
เขาจะไม่ตกนรกเลยตลอด 100,000 กัป
[48] เขาจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด 50 ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 80 ชาติ
[49] และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
จักมีความสุขในที่ทุกสถานเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ
[50] ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้แล้ว
ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า
เหมือนพญาหงส์ในอากาศ
[51] ยานคือช้าง ยานคือม้า
วอและคานหาม ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะที่เดียว
[52] เมื่อข้าพเจ้าเข้าป่าแล้วต้องการอาสนะ
บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้าก็ปรากฏขึ้น
[53] เมื่ออยู่ท่ามกลางน้ำต้องการที่นั่ง
บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้าก็ปรากฏขึ้น
[54] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
บัลลังก์ 100,000 แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[55] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง 2
คือ (1) ภพเทวดา (2) ภพมนุษย์
เกิดในตระกูลเพียง 2 ตระกูล
คือ (1) ตระกูลกษัตริย์ (2) ตระกูลพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :38 }