เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 1. สุเมธาเถริยาปทาน
[4] ชน 3 คน คือ นางธนัญชานีพราหมณี
พระนางเขมาเถรี และหม่อมฉัน ได้สั่งสมกุศลไว้ในชาตินั้น
เกิดในตระกูลที่เพียบพร้อมทุกอย่าง
[5] ได้สร้างอารามอย่างสวยงาม
ประดับด้วยเครื่องตกแต่งทุกอย่างเสร็จแล้ว
มอบถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว
[6] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น
หม่อมฉันเกิดในที่ไหน ๆ
ในเทวโลกก็ตาม ในมนุษยโลกก็ตาม
ก็ถึงความเป็นผู้เลิศ
[7] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[8] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่อุดม
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่
[9] ท้าวเธอมีพระราชธิดา 7 พระองค์
พระราชกัญญาเหล่านั้นดำรงอยู่ในความสุข
ทรงพอพระทัยในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
และประพฤติพรหมจรรย์1
[10] หม่อมฉันเป็นพระสหายของพระราชธิดาเหล่านั้น
เป็นสตรีผู้มั่นคงในศีล ได้ถวายทานโดยเคารพ
ประพฤติวัตรอยู่ในเรือนนั่นเอง

เชิงอรรถ :
1 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มี 10 ประการ คือ (1) ทาน (2) เวยยาวัจจะ
(3) เบญจศีล (4) อัปปมัญญา (5) เมถุนวิรัติ (6) สทารสันโดษ (7) วิริยะ (8) อุโปสถังคะ
(9) อริยมรรค (10) ศาสนา (ที.สี.อ. 1/190/160-2)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :366 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 1. สุเมธาเถริยาปทาน
[11] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[12] หม่อมฉันจุติจากสวรรคชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[13] หม่อมฉันประกอบบุญกรรมไว้
เกิดในภพใด ๆ ในภพนั้น ๆ
ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[14] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
[15] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายชาติ
[16] นั้นเป็นเหตุ เป็นแดนเกิด และมูลเหตุ
คือเป็นความสมควรในพระศาสนา
นั่นเป็นสโมธานข้อที่ 1
ข้อนั้นเป็นความดับของหม่อมฉันผู้ยินดีในธรรม
[17] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :367 }