เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [56. ยสวรรค] 6. อุตตรเถราปทาน
[79] ผ้าใหม่ ผลไม้ใหม่ โภชนะมีรสเลิศใหม่ ๆ
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[80] (คำเชื้อเชิญเช่นนี้ว่า) เชิญเคี้ยวกินสิ่งนี้
เชิญบริโภคสิ่งนี้ เชิญนอนบนที่นอนนี้
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[81] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาบูชาในที่ทุกสถาน
มียศสูงส่ง มีพวกมาก มีบริวารไม่แตกแยกกันทุกเมื่อ
บรรดาพวกญาติ ข้าพเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[82] ข้าพเจ้าไม่รู้จักความหนาว ความร้อน
ทั้งไม่มีความเร่าร้อน
อนึ่ง ทุกข์ทางใจก็ไม่มีในหทัยของข้าพเจ้า
[83] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ความเป็นผู้ผิวพรรณทรามข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[84] ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจุติจากเทวโลก
เกิดในตระกูลมหาศาลที่มั่งคั่งในกรุงสาวัตถี
[85] ข้าพเจ้าได้ละกามคุณ 51 ออกบวชเป็นบรรพชิต
มีอายุได้ 7 ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล

เชิงอรรถ :
1 กามคุณ 5 หมายถึงสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ 5 อย่าง คือ รูป,เสียง,กลิ่น,รส และโผฏฐัพพะ
(ที.ปา. (แปล) 11/315/300)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :347 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [56. ยสวรรค] 6. อุตตรเถราปทาน
[86] พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบคุณวิเศษของข้าพเจ้า
จึงให้ข้าพเจ้าอุปสมบท
ข้าพเจ้ามีอายุน้อยอยู่ก็ได้เป็นปูชนียบุคคล
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[87] ทิพยจักษุของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าผู้ฉลาดในสมาธิ
ถึงความสำเร็จอภิญญา
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[88] ข้าพเจ้าบรรลุปฏิสัมภิทา ฉลาดในอิทธิบาท1
ถึงความสำเร็จในธรรมทั้งหลาย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[89] ในกัปที่ 30,000 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[90] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[91] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

เชิงอรรถ :
1 อิทธิบาท หมายถึงคุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ มี 4 อย่าง คือ (1) ฉันทะ (ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น)
(2) วิริยะ (ความพยายามทำสิ่งนั้น) (3) จิตตะ (ความเอาใจฝักใฝ่สิ่งนั้น) (4) วิมังสา (ความพิจารณา
ใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น) (ที.ปา. (แปล) 11/306/277)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :348 }