เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 2. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[20] ครั้นถวายแล้ว ได้ประกาศอย่างกึกก้องว่า
ข้าแต่พระมหามุนีผู้แกล้วกล้า
ถ้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า
ขอได้ทรงโปรดช่วยข้าพระองค์ให้ข้ามพ้น(จากนรก)ด้วยเถิด
[21] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
เมื่อจะทรงประกาศทานของข้าพเจ้า
ได้ทรงกระทำอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าว่า
[22] ด้วยการถวายผ้าผืนเดียวนี้
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
บุรุษนี้จะไม่ตกนรกเลยตลอด 100,000 กัป
[23] เขาจักได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด 36 ชาติ
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 33 ชาติ
[24] และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
เมื่อเธอเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
คือเทวโลกหรือมนุษยโลก
[25] จักเป็นผู้มีรูปงาม สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม
มีร่างกายสมส่วน จักได้ผ้านับไม่ได้ ประมาณไม่ได้
ตามที่ปรารถนา
[26] ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ1
ผู้เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้แล้ว
ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า
เหมือนพญาหงส์ในอากาศ

เชิงอรรถ :
1 ปทุมุตตระ แปลจากศัพท์ว่า ชลชุตฺตมนายโก (ขุ.อป.อ. 2/28/7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :34 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 2. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[27] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือ จะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว
[28] ผ้าเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าทุกย่างก้าว
ข้างล่างข้าพเจ้าก็ยืนอยู่บนผ้า
ข้างบนก็มีผ้าเป็นเครื่องมุงบัง
[29] ในวันนี้ จักรวาลพร้อมทั้งป่า ภูเขา
เมื่อข้าพเจ้าปรารถนาก็จะพึงคลุมด้วยผ้าได้
[30] เพราะถวายผ้าผืนเดียวเท่านั้นแหละ
ข้าพเจ้าเมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่1
เป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
[31] ข้าพเจ้าได้ถึงความเป็นภิกษุ
เพราะผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว
ถึงชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้าย
ผ้าก็ยังให้ผลแก่ข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้
[32] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว
[33] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

เชิงอรรถ :
1 ภพน้อยภพใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความเจริญและความเสื่อม หรือสมบัติและวิบัติ ความยั่งยืนและความ
ขาดสูญ บุญและบาป (ขุ.จริยา.อ. 2/23)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :35 }