เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 10. จูฬสุคันธเถราปทาน
[283] ไม่ถูกโลกธรรมแปดเปื้อน
เหมือนดอกบัวไม่เปื้อนด้วยน้ำ
ประทับอยู่ดังกองไฟที่เผาเสี้ยนตอคือวาทะชั่ว
[284] พระองค์ทรงเป็นเหมือนยาบำบัดโรค ในที่ทั้งปวง
ทรงทำลายยาพิษคือกิเลสให้พินาศ
ทรงประดับด้วยสุคนธชาติคือคุณ
เหมือนยอดเขาคันธมาทน์
[285] ทรงเป็นนักปราชญ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งคุณ
ดังทะเลเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ
และทรงเป็นผู้ประเสริฐกว่านรชน
ดังม้าสินธพชาติอาชาไนย
ทรงกำจัดมลทินคือกิเลส
[286] ทรงย่ำยีมารและเสนามารได้
เหมือนขุนพลผู้มีชัยโดยพิเศษ
ทรงเป็นใหญ่เพราะรัตนะคือโพชฌงค์ 71
เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นใหญ่
เพราะรัตนะ 7 ประการ2 ฉะนั้น
[287] ทรงเป็นผู้เยียวยาพยาธิคือโทสะเหมือนหมอใหญ่รักษาไข้
ทรงผ่าฝีคือทิฏฐิเหมือนศัลยแพทย์ผู้ประเสริฐ
[288] ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงส่องโลกให้สว่าง
อันมนุษย์และเทวดาสักการะแล้ว
เป็นดังดวงตะวันส่องแสงสว่างให้แก่นรชน
ทรงแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท

เชิงอรรถ :
1 ที.ปา. (แปล) 11/330/331
2 รัตนะ 7 ประการ คือ (1) จักกรัตนะ (จักรแก้ว) (2) หัตถิรัตนะ (ช้างแก้ว) (3) อัสสรัตนะ
(ม้าแก้ว) (4) มณิรัตนะ (มณีแก้ว) (5) อิตถีรัตนะ (นางแก้ว) (6) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว)
(7) ปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว) (ที.ม. (แปล) 10/33/15)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :330 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 10. จูฬสุคันธเถราปทาน
[289] พระองค์ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ว่า
บุคคลจะเป็นผู้มีโภคสมบัติมากได้ก็เพราะการถวายทาน
จะเข้าถึงสุคติได้ก็เพราะศีล
จะดับกิเลสได้ก็เพราะการเจริญภาวนา
[290] บริษัททั้งหลายทั้งปวงฟังเทศนานั้นที่มีความเบาใจมาก
ซึ่งไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด
มีรสเลิศประหนึ่งน้ำอมฤต
[291] ข้าพเจ้าได้ฟังพระธรรมที่ไพเราะยิ่ง
ก็เกิดความเลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
จึงถึงพระสุคตเป็นที่พึ่งนอบน้อมบูชาจนตลอดชีวิต
[292] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั้นได้ใช้คันธชาติ 4 ชนิด1
ทาพื้นพระคันธกุฎีของพระมุนีเดือนละ 8 วัน
[293] โดยตั้งปณิธานให้สรีระที่ปราศจากกลิ่นหอมให้มีกลิ่นหอม
ครั้งนั้น พระชินเจ้าได้ตรัสพยากรณ์
ข้าพเจ้าผู้ต้องการได้กายมีกลิ่นหอมว่า
[294] นรชนใด ใช้ของหอมทาพื้นพระคันธกุฎีคราวเดียว
ด้วยผลของกรรมนั้น นรชนนั้นเกิดในภพใดภพหนึ่ง
[295] นรชนนี้จักเป็นผู้มีกลิ่นกายหอมไปทุก ๆ ชาติ
จักเป็นผู้ประกอบด้วยกลิ่นคือคุณ ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[296] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เชิงอรรถ :
1 คันธชาติ 4 ชนิด คือ (1) กลิ่นที่เกิดจากราก (2) กลิ่นที่เกิดจากแก่น (3) กลิ่นที่เกิดจากดอก
(4) กลิ่นที่เกิดจากใบ (องฺ.ติก. (แปล) 20/80/304)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :331 }