เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 10. จูฬสุคันธเถราปทาน
[276] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลใหญ่
ที่มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย
เป็นที่สั่งสมรัตนะต่าง ๆ ในกรุงพาราณสี
[277] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ซึ่งประทับนั่งอยู่กับบริวารจำนวนมาก
ได้ฟังอมตธรรมที่นำมาซึ่งความยินดีแห่งจิต
[278] พระพุทธองค์ทรงมีพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ1
เหมือนดวงจันทร์ซึ่งเป็นนักษัตรที่งาม
ทรงสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ
เหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
[279] มีข่ายคือพระรัศมีแวดล้อม
เหมือนสุวรรณบรรพตมีรัศมีรุ่งเรือง
มีพระรัศมีล้อมรอบด้านละวา
เหมือนดวงอาทิตย์มีรัศมีเป็นร้อย
[280] มีพระพักตร์เหมือนทองคำ
เป็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐ
เป็นดังขุนเขาที่ให้เกิดความยินดี
มีพระทัยเต็มด้วยพระกรุณา
มีพระคุณดุจสาคร
[281] มีพระเกียรติปรากฏแก่ชาวโลก
เหมือนภูเขาสิเนรุซึ่งเป็นขุนเขาสูงสุด
มีพระยศแผ่ไป เป็นนักปราชญ์
เป็นผู้มีความรู้ดังอากาศ
[282] มีพระหฤทัยไม่ข้องเกี่ยวในที่ทั้งปวงเหมือนสายลม
ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ดังแผ่นดิน
ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถหน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :329 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 10. จูฬสุคันธเถราปทาน
[283] ไม่ถูกโลกธรรมแปดเปื้อน
เหมือนดอกบัวไม่เปื้อนด้วยน้ำ
ประทับอยู่ดังกองไฟที่เผาเสี้ยนตอคือวาทะชั่ว
[284] พระองค์ทรงเป็นเหมือนยาบำบัดโรค ในที่ทั้งปวง
ทรงทำลายยาพิษคือกิเลสให้พินาศ
ทรงประดับด้วยสุคนธชาติคือคุณ
เหมือนยอดเขาคันธมาทน์
[285] ทรงเป็นนักปราชญ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งคุณ
ดังทะเลเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ
และทรงเป็นผู้ประเสริฐกว่านรชน
ดังม้าสินธพชาติอาชาไนย
ทรงกำจัดมลทินคือกิเลส
[286] ทรงย่ำยีมารและเสนามารได้
เหมือนขุนพลผู้มีชัยโดยพิเศษ
ทรงเป็นใหญ่เพราะรัตนะคือโพชฌงค์ 71
เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นใหญ่
เพราะรัตนะ 7 ประการ2 ฉะนั้น
[287] ทรงเป็นผู้เยียวยาพยาธิคือโทสะเหมือนหมอใหญ่รักษาไข้
ทรงผ่าฝีคือทิฏฐิเหมือนศัลยแพทย์ผู้ประเสริฐ
[288] ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงส่องโลกให้สว่าง
อันมนุษย์และเทวดาสักการะแล้ว
เป็นดังดวงตะวันส่องแสงสว่างให้แก่นรชน
ทรงแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท

เชิงอรรถ :
1 ที.ปา. (แปล) 11/330/331
2 รัตนะ 7 ประการ คือ (1) จักกรัตนะ (จักรแก้ว) (2) หัตถิรัตนะ (ช้างแก้ว) (3) อัสสรัตนะ
(ม้าแก้ว) (4) มณิรัตนะ (มณีแก้ว) (5) อิตถีรัตนะ (นางแก้ว) (6) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว)
(7) ปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว) (ที.ม. (แปล) 10/33/15)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :330 }