เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 9. วนวัจฉเถราปทาน
[264] ขณะนั้น พระสิทธัตถราชกุมาร
ผู้เป็นดังธงชัยของศากยวงศ์ก็ทรงประสูติ
ข้าพเจ้าเป็นสหายรักสนิทชิดชอบกันของพระองค์
[265] เมื่อพระองค์ทรงละยศที่ไพบูลย์
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
โดยมุ่งสาระประโยชน์แก่หมู่สัตว์
แม้ข้าพเจ้าก็ออกบวชแล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์
[266] ข้าพเจ้าพบพระกัสสปะผู้อยู่ป่า
ผู้ควรสรรเสริญ ผู้บอกกล่าวเรื่องธุดงค์
ก็ได้ฟังข่าวว่า พระชินเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
[267] พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
ประกาศประโยชน์ทุกประการแก่ข้าพเจ้า
จากนั้น ข้าพเจ้าบวชแล้วเข้าไปยังป่าตามเดิม
[268] เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในป่านั้น
เป็นผู้ไม่ประมาทก็ได้สำเร็จอภิญญา 6
โอ เราผู้ที่พระศาสดาผู้ทรงเป็นกัลยาณมิตรทรงอนุเคราะห์แล้ว
เป็นผู้มีลาภที่ได้ดีแล้วหนอ
[269] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[270] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :327 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 10. จูฬสุคันธเถราปทาน
[271] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวนวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วนวัจฉเถราปทานที่ 9 จบ

10. จูฬสุคันธเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจูฬสุคันธเถระ
(พระจูฬสุคันธเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[272] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[273] พระองค์สมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ
มีพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ1
มีพระรัศมีล้อมรอบข้างละวา
ทรงประกอบด้วยข่ายรัศมี
[274] ทรงทำหมู่สัตว์ให้ยินดีได้เหมือนดวงจันทร์
เปล่งพระรัศมีเหมือนดวงอาทิตย์
ทำหมู่สัตว์ให้เยือกเย็นได้เหมือนเมฆฝน
เป็นบ่อเกิดแห่งคุณเหมือนทะเล(เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ)
[275] พระองค์เปรียบดังแผ่นดินโดยศีล
เปรียบดังภูเขาหิมพานต์โดยสมาธิ
เปรียบดังอากาศโดยปัญญา
เป็นผู้ไม่ข้องเกี่ยว(กับอะไร ๆ) เหมือนสายลม

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถหน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :328 }