เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 9. วนวัจฉเถราปทาน
[250] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโลมสติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โลมสติยเถราปทานที่ 8 จบ

9. วนวัจฉเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวนวัจฉเถระ
(พระวนวัจฉเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[251] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[252] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประพฤติพรหมจรรย์จนตลอดชีวิต
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
[253] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[254] จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว ได้เกิดเป็นนกพิราบอยู่ในป่า
ในป่านั้นมีภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ
ยินดีในฌานทุกเมื่อ อาศัยอยู่
[255] ท่านเป็นผู้มีจิตเมตตา ประกอบด้วยกรุณา
มีหน้าอิ่มเอิบทุกเมื่อ มีจิตวางเฉย
มีความเพียรมาก ฉลาดในอัปปมัญญา1

เชิงอรรถ :
1 อัปปมัญญา หมายถึงจิตที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งแผ่ไปโดยไม่มีขอบเขต ไม่มี
ประมาณ (ที.ปา. (แปล) 11/308/280)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :325 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 9. วนวัจฉเถราปทาน
[256] มีความดำริปราศจากนิวรณ์1
มีอัธยาศัยมุ่งประโยชน์แก่สรรพสัตว์ โดยไม่นาน
ข้าพเจ้าก็มีความคุ้นเคยในสาวกของพระสุคตองค์นั้น
[257] เมื่อข้าพเจ้าไปเกาะอยู่แทบเท้าของท่าน
ผู้นั่งอยู่ในอาศรม ในครั้งนั้น บางครั้งท่านก็ให้อาหาร
บางครั้งท่านก็แสดงธรรม
[258] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปหาท่านผู้เป็นโอรสของพระชินเจ้า
ด้วยความรักอันไพบูลย์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในสวรรค์ประหนึ่งจากที่อยู่
แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตนฉะนั้น
[259] ข้าพเจ้าจุติจากสวรรค์แล้ว
บังเกิดในหมู่มนุษย์ด้วยบุญกรรม
ได้สละเรือนออกบวชโดยมาก
[260] ข้าพเจ้าเป็นสมณะ ดาบส พราหมณ์
ปริพาชกอยู่ในป่ามานานหลายร้อยชาติ
[261] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าหยั่งลงสู่ครรภ์
แห่งภรรยาของพราหมณ์วัจฉโคตร
ในกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
[262] เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในครรภ์มารดาของข้าพเจ้าแพ้ท้อง
ในเวลาที่ข้าพเจ้าใกล้คลอด ท่านตัดสินใจที่จะอยู่ป่า
[263] จากนั้น มารดาของข้าพเจ้าได้คลอดข้าพเจ้า
ที่ชายป่าที่น่ารื่นรมย์
เมื่อข้าพเจ้าคลอดจากครรภ์มารดา
ชนทั้งหลายใช้ผ้ากาสายะรองรับไว้

เชิงอรรถ :
1 นิวรณ์ หมายถึงธรรมกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีมี 5 อย่าง คือ (1) กามฉันทะ ความพอใจในกาม
(2) พยาบาท ความคิดร้าย (3) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม (4) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ (5) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (ที.ปา. (แปล) 11/315/301)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :326 }