เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 8. โลมสติยเถราปทาน
[243] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าป่าจึงได้บรรลุอรหัตตผล
นึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า
เพราะระลึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า คือ ภัทเทกรัตโตวาทว่า
[244] บุคคลไม่ควรนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น
[245] ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง
[246] บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชมีเสนานั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
[247] พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ ดังนี้
[248] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[249] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :324 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 9. วนวัจฉเถราปทาน
[250] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโลมสติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โลมสติยเถราปทานที่ 8 จบ

9. วนวัจฉเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวนวัจฉเถระ
(พระวนวัจฉเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[251] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[252] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประพฤติพรหมจรรย์จนตลอดชีวิต
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
[253] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[254] จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว ได้เกิดเป็นนกพิราบอยู่ในป่า
ในป่านั้นมีภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ
ยินดีในฌานทุกเมื่อ อาศัยอยู่
[255] ท่านเป็นผู้มีจิตเมตตา ประกอบด้วยกรุณา
มีหน้าอิ่มเอิบทุกเมื่อ มีจิตวางเฉย
มีความเพียรมาก ฉลาดในอัปปมัญญา1

เชิงอรรถ :
1 อัปปมัญญา หมายถึงจิตที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งแผ่ไปโดยไม่มีขอบเขต ไม่มี
ประมาณ (ที.ปา. (แปล) 11/308/280)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :325 }