เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 1. สกิงสัมมัชชกเถราปทาน
[7] ข้าพเจ้าไม่มีโรคเรื้อน ฝี โรคกลาก
โรคลมบ้าหมู คุดทะราด หิดเปื่อย และหิดด้าน
นี้เป็นผลแห่งการกวาด
[8] ความเศร้าโศก ความเร่าร้อนไม่มีในหทัยของข้าพเจ้า
จิตของข้าพเจ้าเที่ยงตรง ไม่วอกแวก
นี้เป็นผลแห่งการกวาด
[9] ข้าพเจ้าเข้าถึงสมาธิ ใจก็บริสุทธิ์
สมาธิที่ข้าพเจ้าปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ข้าพเจ้า
[10] ข้าพเจ้าไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
และไม่ลุ่มหลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง
นี้เป็นผลแห่งการกวาด
[11] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกวาด(บริเวณที่ตรัสรู้)
[12] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[13] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :32 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] 2. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[14] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสกิงสัมมัชชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สกิงสัมมัชชกเถราปทานที่ 1 จบ

2. เอกทุสสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกทุสสทายกเถระ
(พระเอกทุสสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[15] ข้าพเจ้าเป็นคนหาบหญ้าขายอยู่ในกรุงหงสวดี
เลี้ยงชีพด้วยการหาบหญ้า เลี้ยงดูบุตรภรรยาด้วยการงานนั้น
[16] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก กำจัดความมืดมนให้พินาศไป
เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[17] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในเรือนของตน
คิดอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
ไทยธรรมก็ไม่มี
[18] ข้าพเจ้ามีแต่ผ้าสาฎกผืนเดียวนี้
ไม่มีใครให้ข้าพเจ้า การตกนรกเป็นทุกข์
ข้าพเจ้าจักปลูกทักษิณา
[19] ครั้นคิดเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ได้ถือผ้าผืนเดียวไปถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :33 }