เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 7. อภยเถราปทาน
[201] ฉลาดในนิรุตติ1 แกล้วกล้าในคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์
เข้าใจตัวบท รู้แจ่มแจ้งในคัมภีร์เกฏุภะ2
ฉลาดในฉันท์และกาพย์กลอน
[202] เมื่อเที่ยวเดินพักผ่อน ได้ไปถึงพระวิหารหังสาราม
ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ล้ำเลิศประเสริฐที่สุด
มีมหาชนห้อมล้อม
[203] ข้าพเจ้ามีความคิดเป็นข้าศึก
เข้าไปใกล้พระองค์ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม
ได้ฟังพระดำรัสซึ่งปราศจากมลทินของพระองค์
[204] ข้าพเจ้าไม่เห็นพระดำรัสที่กระทบ
ที่กล่าวซ้ำ ๆ กัน ที่ผิดไวยากรณ์
หรือที่ไร้ประโยชน์ของพระมุนีพระองค์นั้นเลย
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบวช
[205] โดยเวลาไม่นานนัก ข้าพเจ้าก็เป็นผู้แกล้วกล้าในธรรมทุกอย่าง
ได้รับยกย่องให้เป็นคณบดี ในพระพุทธพจน์ที่ละเอียดอ่อน
[206] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ประพันธ์คาถา 4 คาถา
ซึ่งมีพยัญชนะสละสลวยชมเชยพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลกทั้ง 3 แล้วแสดงทุก ๆ วันว่า
[207] พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากความยินดี
มีความเพียรมาก ทรงอยู่ในสังสารวัฏที่มีภัย
ไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ก็เพราะทรงประกอบด้วยพระกรุณา(ในหมู่สัตว์)
ฉะนั้น พระมุนีจึงชื่อว่าทรงประกอบด้วยพระกรุณา

เชิงอรรถ :
1 ที.สี.อ. 256/222 และดู Dawson, John. A classieal Dictionary of Hindu Mythology (London
Lroutledge and kegan Paul, 1957) P. 222
2 ที.สี.อ. 256/222 และดู Dawson, John. A classieal Dictionary of Hindu Mythology (London
Lroutledge and kegan Paul, 1957) P. 222

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :318 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 7. อภยเถราปทาน
[208] บุคคลผู้ใด ถึงเป็นปุถุชนก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส
ประกอบด้วยสติ มีสัมปชัญญะ
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้นั้นจึงเป็นอจินไตย
[209] กิเลสที่มีกำลังอ่อน ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา
ถูกเผาด้วยไฟคือญาณแล้วไม่สิ้นไป ข้อนั้นไม่เคยมีเลย
[210] ผู้ใดเป็นที่เคารพของสัตว์โลกทั้งปวง
ซึ่งเป็นครูในโลก และเป็นอาจารย์ของชาวโลก
โลกย่อมอนุวัตรตามผู้นั้น
[211] ข้าพเจ้าขอสดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยคาถามีอาทิดังนี้แสดงธรรมตลอดชีวิต
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์
[212] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้ากล่าวสดุดีพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี
[213] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ครองราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่อันเป็นทิพย์ในเทวโลก
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่เป็นอันมาก
[214] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน 2 ภพ
คือ (1) ภพเทวดา (2) ภพมนุษย์
คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี
[215] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน 2 ตระกูล
คือ (1) ตระกูลกษัตริย์ (2) ตระกูลพราหมณ์
ข้าพเจ้าไม่รู้จักตระกูลต่ำเลย
นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :319 }