เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 6. กาฬุทายีเถราปทาน
[161] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ 100,000
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว(จากกิเลส)
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่พ้นไปจากแล่ง
ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[162] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[163] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[164] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนันทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นันทกเถราปทานที่ 5 จบ

6. กาฬุทายีเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกาฬุทายีเถระ
(พระกาฬุทายีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[165] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :312 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 6. กาฬุทายีเถราปทาน
[166] พระชินเจ้าทรงเป็นศาสดา
ผู้ประเสริฐกว่าผู้นำ(เจ้าลัทธิ)ทั้งหลาย
ทรงรู้แจ้งสิ่งที่เป็นคุณและสิ่งที่เป็นโทษ
เป็นผู้กตัญญูกตเวที ทรงประกอบเหล่าสัตว์ไว้ในท่า1
[167] ทรงเป็นสัพพัญญู ทรงมีอัธยาศัยเอ็นดู
เป็นที่สั่งสมแห่งอนันตคุณ
ทรงพิจารณาด้วยพระญาณนั้นแล้ว
จึงทรงแสดงธรรมที่ประเสริฐ
[168] บางครั้งพระชินเจ้านั้น ผู้มีความเพียรมาก
มีพระปัญญาบริสุทธิ์
แสดงธรรมที่ประกอบด้วยสัจจะทั้ง 4 อันไพเราะ
แก่หมู่ชนเป็นอนันต์
[169] สรรพสัตว์ประมาณ 100,000 ได้บรรลุธรรม
เพราะได้สดับธรรมที่ประเสริฐ มีความงามในเบื้องต้น
ท่ามกลาง และที่สุดนั้น
[170] ครั้งนั้น แผ่นดินก็สั่นสะเทือน
และ เมฆก็คำรน เหล่าเทวดา พรหม
มนุษย์ และอสูร ต่างก็แซ่ซ้องสาธุการ
[171] โอ พระศาสดาทรงประกอบด้วยพระกรุณา
โอ พระสัทธรรมเทศนา
โอ พระชินเจ้าผู้ทรงช่วยหมู่สัตว์
ที่จมลงในสมุทรคือภพขึ้นมาได้
[172] เมื่อหมู่สัตว์พร้อมทั้งมนุษย์
เทวดา และพรหม เกิดความสังเวชเช่นนี้แล้ว
พระชินเจ้าได้ทรงสรรเสริญสาวก
ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายทำตระกูลให้เลื่อมใส

เชิงอรรถ :
1 ในท่า ในที่นี้หมายถึงประกอบคือให้สรรพสัตว์ดำรงอยู่ในมรรคที่เป็นมหากุศลซึ่งเป็นอุบายในการบรรลุนิพพาน
ด้วยการแสดงธรรม (ขุ.อป.อ. 2/166/328)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :313 }