เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 4. วังคีสเถราปทาน
[125] ครั้นเห็นท่านแล้วก็ยิ้มแย้ม
ได้กล่าวบทคาถาที่สมควรอันวิจิตร
เหมือนดอกกรรณิการ์ที่เป็นกลุ่ม
[126] ท่านบอกข้าพเจ้าถึงพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ครั้งนั้น พระสารีบุตรผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์นั้น
ได้พูดกับข้าพเจ้าให้ยิ่งขึ้นไป
[127] ข้าพเจ้าอันพระเถระผู้คงที่กล่าวถ้อยคำ
อันประกอบด้วยวิราคธรรม ยอดเยี่ยมที่เห็นได้ยาก
ให้ยินดีแล้ว ด้วยปฏิภาณอันวิจิตร
[128] จึงหมอบลงแทบเท้าของท่านด้วยเศียรเกล้า
แล้วก็กล่าวว่า ขอได้โปรดให้กระผมบรรพชาเถิด
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก
ได้นำข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[129] ข้าพเจ้าหมอบลงแทบพระยุคลพระบาทด้วยเศียรเกล้าแล้ว
นั่ง ณ ที่ใกล้พระศาสดา
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าบัณฑิตทั้งหลาย
ได้ตรัสถามข้าพเจ้าว่า
วังคีสะ ศิลปะอะไร ๆ ของท่านมีอยู่จริงหรือ
[130] (ข้าพเจ้ากราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านรู้ศีรษะของคนที่ตายไปแล้วว่า
ไปสู่สุคติหรือทุคติจริงหรือ
ถ้าท่านสามารถรู้ได้ด้วยวิชาพิเศษของท่าน จงบอกมา
[131] เมื่อข้าพเจ้าทูลรับรองแล้ว
พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงกะโหลกศีรษะ 3 กะโหลก
ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า เป็นศีรษะของคนที่เกิดในนรกและเทวดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :307 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 4. วังคีสเถราปทาน
[132] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ
ได้แสดงกะโหลกศีรษะของพระขีณาสพ
เพราะศีรษะนั้น ข้าพเจ้าหมดมานะ
จึงทูลขอบรรพชา อย่างอ่อนน้อม
[133] ครั้นบรรพชาแล้ว ได้กล่าวสรรเสริญพระสุคตทุก ๆ แห่ง
เมื่อนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษข้าพเจ้าว่าเป็นจินตกวี
[134] ลำดับนั้น พระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ได้ตรัสถามข้าพเจ้าเพื่อทดลองว่า
คาถาเหล่านี้ ย่อมแจ่มแจ้งโดยสมควรแก่เหตุแก่คนทั้งหลาย
ผู้ตรึกตรองแล้วมิใช่หรือ
[135] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ข้าพระองค์มิใช่นักกาพย์กลอน แต่ว่าคาถาทั้งหลาย
แจ่มแจ้งโดยสมควรแก่เหตุแก่ข้าพระองค์
วังคีสะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงกล่าวสดุดีเราโดยสมควรแก่เหตุในบัดนี้
[136] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวคาถาสดุดีพระธีระผู้เป็นฤๅษีผู้ประเสริฐ
ในกาลนั้น พระชินเจ้าพระองค์นั้นทรงพอพระทัยด้วยสมควรแก่เหตุ
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[137] ข้าพเจ้ามีปฏิภาณอันวิจิตรจึงดูหมิ่นภิกษุรูปอื่น
แต่มีศีลเป็นที่รัก
เกิดความสลดใจเพราะการดูหมิ่นนั้นจึงได้บรรลุอรหัตแล้ว
[138] (พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
ไม่มีใครอื่นที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ที่มีปฏิภาณเหมือนกับวังคีสภิกษุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงจำไว้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :308 }