เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 4. วังคีสเถราปทาน
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงทำที่พึ่ง ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
[111] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้ไม่มีที่พึ่ง
ทรงประทานความไม่มีภัยแก่คนทั้งหลายที่ตื่นกลัว
ทรงเป็นที่ไว้วางใจของคนทั้งหลายที่มีภูมิธรรม1สงบระงับ
ทรงเป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายผู้แสวงหาที่พึ่งที่ระลึก
[112] เราได้สดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยคำกล่าวสดุดีมีอาทิอย่างนี้แล้ว
ได้กล่าวสรรเสริญพระคุณอันยิ่งใหญ่
จึงได้บรรลุคติของภิกษุผู้เป็นนักพูดผู้กล้า
[113] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีปฏิภาณไม่มีที่สิ้นสุด
ได้ตรัสว่า ผู้นั้นใดเป็นผู้เลื่อมใสทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า
พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด 7 วัน
[114] ด้วยมือทั้ง 2 ของตน และได้กล่าวสดุดีคุณของเรา
ผู้นั้นปรารถนาตำแหน่งของภิกษุผู้เป็นนักพูดผู้แกล้วกล้า
[115] ในอนาคตกาล เขาจักได้ตำแหน่งนี้สมความปรารถนา
เสวยทิพยสมบัติและมนุษยสมบัติมีประมาณไม่น้อย
[116] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[117] พราหมณ์นี้จักมีนามว่าวังคีสะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น

เชิงอรรถ :
1 ภูมิธรรม หมายถึงโสดาปัตติมรรคเป็นต้น (ขุ.อป.อ. 2/111/315)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :305 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [55. ภัททิยวรรค] 4. วังคีสเถราปทาน
[118] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา
อุปัฏฐากพระชินเจ้าผู้ตถาคตด้วยปัจจัยทั้งหลาย
จนตลอดชีวิตในครั้งนั้น
[119] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[120] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลปริพาชก
เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นครั้งสุดท้าย มีอายุได้ 7 ขวบ
[121] เป็นผู้รู้แจ้งพระเวททุกคัมภีร์
แกล้วกล้าในวาทศาสตร์ มีเสียงไพเราะ
มีถ้อยคำวิจิตร สามารถย่ำยีวาทะของผู้อื่นได้
[122] เพราะข้าพเจ้าเกิดที่วังคชนบท
และเป็นใหญ่ในถ้อยคำ ข้าพเจ้าจึงได้ชื่อว่าวังคีสะ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ชื่อของข้าพเจ้าจะเป็นเลิศ ก็เป็นชื่อสมมติตามโลก
[123] ในกาลที่ข้าพเจ้ารู้เดียงสา อยู่ในวัยเริ่มเป็นหนุ่ม
ได้เห็นท่านพระสารีบุตรในกรุงราชคฤห์ที่รื่นรมย์
ภาณวารที่ 25 จบ

[124] ท่านอุ้มบาตรสำรวม สายตาไม่ลอกแลก
พูดพอประมาณ และมองดูเพียงชั่วแอก เที่ยวบิณฑบาตอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :306 }